อนงค์ : หนังผีกับมุมมองความเชื่อแบบพุทธไทย

อนงค์เป็นหนังอีกเรื่องหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า ผีไม่ได้ดุร้าย ไร้เหตุผล หลอกคนไปทั่วหรือฆ่าไม่ยั้งจนต้องหาพระมาปราบ แต่เป็นผีที่มีความรู้สึกทั่วไปเหมือนคน ดีใจเสียใจ อยากผูกมิตรกับคนอัธยาศัยดี อยากช่วยให้คนมีตังค์ใช้หนี้ ที่จริงคนไทยอาจคุ้นเคยกับพฤติกรรมผีแบบนี้ เช่น ผีเจ้าที่หรือกุมารทอง ที่เป็นเหมือนเพื่อนมนุษย์ (ในจินตนาการ)



ผีน่าสงสาร มากกว่าน่ากลัว

ดูหนังเรื่องนี้แล้วอาจช่วยให้เรารู้สึกสงสารผีมากขึ้น อนงค์ ทองหยิบและทองก้อนถูกโจรฆ่าตาย และถูกฝังไว้ ซึ่งหนังนำเสนอว่า การที่ไม่มีคนทราบว่าพวกเขาตายแล้วและยังหากระดูกไม่เจอ จะทำให้เขาไปเกิดไม่ได้ และช่วงเวลาเที่ยงคืนที่พวกเขาถูกฆ่า ก็จะถูกฆ่าซ้ำๆ แบบนั้นในทุกคืน เช่นเดียวกับที่เราถูกบอกว่า คนฆ่าตัวตายจะทำแบบนั้นซ้ำๆ ในเวลาเดิม


ในคัมภีร์พุทธ ไม่พบเรื่องราวของคนฆ่าตัวตายหรือถูกฆ่าตายแล้วต้องทำแบบนั้นซ้ำๆ ทุกคืน หรือ 500 ครั้ง อาจเพราะเชื่อว่าเมื่อตายก็ไปเกิดใหม่ในภพภูมิต่างๆ ตามกรรมที่ได้ทำมา แต่ความเชื่อเรื่อง 500 ชาติหรือทำซ้ำๆ นั้นน่าจะเพื่อป้องกันไม่ให้คนฆ่าตัวตายมากกว่า มันไม่ยุติธรรมเลยที่เหยื่อซึ่งไม่ได้ฆ่าตัวตายแต่ถูกคนอื่นฆ่าด้วยซ้ำ ก็ยังต้องถูกฆ่าซ้ำๆ แบบนั้นทุกคืน และหลายคนก็เชื่อกันว่า ถ้าเป็นการตายโหง วิญญาณจะต้องทรมานแบบนั้นซ้ำๆ เช่น ขี่มอเตอร์ไซด์แหกโค้ง คนเเถวนั้นก็จะได้ยินเสียงเเหกโค้งทุกคืน ซึ่งไม่ยุติธรรมเลย พอเห็นความไม่ยุติธรรมแบบนี้ ยิ่งรู้สึกสงสารผี


ข้อด้อยของความเชื่อแบบนี้คือ ทำให้ลูกหลานผู้ตายรู้สึกไม่สบายใจหากผู้นั้นตายโหง คือไม่เเน่ใจว่าวิญญาณเขาจะยังอยู่บริเวณนั้นไหม บางครอบครัวจึงต้องหาพระไปนำวิญญาณกลับบ้าน พระธรรมทูตอยู่ต่างประเทศรูปหนึ่งเล่าว่า เเกลำบากใจมากเวลาทำพิธีกรรมนี้ (ส่วนตัวเเกก็ไม่เชื่อ เเต่ต้องทำให้ชาวบ้านสบายใจ) และเมื่อไปกันเป็นกลุ่ม จุดธูป รดน้ำมนต์ตามสี่แยกที่คนนั้นตาย ก็รู้สึกอายคนท้องถิ่นที่มองดูด้วยความสงสัย แต่ก็ทำพิธีกรรมให้สั้นและเร็วที่สุด

 

นอกจากการผลิตซ้ำความเชื่อแบบไทย หนังนี้ฉีกออกนอกกรอบด้วยการสร้างความเชื่อต่อผีในมุมที่ดีด้วย นั่นคือ ผีมีความรักแบบคนทั่วไป ผีไม่ได้ผูกอาฆาตและไม่ต้องการฆ่าคนเพื่อเอาไปอยู่ด้วย


แม้ผีจะไม่รู้ทุกเรื่องแต่ผีก็ให้อภัยเป็น

จากเรื่องนี้ ผีทั้งสามไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครฆ่าพวกเขา แบบที่ผีทองก้อนพูดว่า "จะไปรู้ได้ไง ก็ตายซะก่อนจะเห็นว่าโจรเป็นใครและเอาไปฝังที่ไหน" จริงๆ แล้วผีเเทบไม่รู้เรื่องอะไรด้วย นี่อาจเป็นเหตุผลที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องไปหาฆาตกรเพื่อล้างเเค้น หรือไปบอกญาติให้มาขุดศพ แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ เเม้ทราบความจริงแล้วว่าใครฆ่าเขา เขาก็ให้อภัยได้

 

ชีวิตที่ข้ามภพชาติทำให้คนลืมทุกอย่าง เลยให้ความรู้สึกว่า นายเเดงในปัจจุบันไม่ควรต้องรับโทษจากการกระทำของเขาเมื่ออดีตชาติ เพราะเป็นคนละคนกันเเล้ว เเละเขาก็จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเขาทำอะไรมา ดังนั้นจะบอกว่าเขาเป็นคนชั่วแบบชาติที่แล้วหรือต้องชดใช้กรรมของชาติที่แล้วไม่ได้


พระจะพูดเล่นกันเวลาสอนเรื่องภพชาติ เช่น "ชาติก่อนคุณเคยยืมเงินผมไปสี่หมื่น ยังไม่เอามาคืนก็ตายซะก่อน ชาตินี้ผมขอคืนเเค่สองหมื่นก็พอ" แล้วก็หัวเราะกัน ที่หัวเราะไม่ใช่เเค่เพราะรู้ดีว่าอีกคนหนึ่งพูดเล่น เเต่ต่อให้เป็นจริง ก็ถือว่ายุติไปแล้ว ภพใหม่ก็เป็นคนใหม่ กรรมในศาสนาพุทธจึงใช้อย่างจำกัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการอธิบายเเบบข้ามภพชาติ ง่ายๆ คือ เราไม่สามารถอ้างได้ว่าคนนั้นฆ่าเรา ชาตินี้เราจึงฆ่ากลับ อ้างแบบนั้นแล้วฆ่าคนก็ถือว่าทำผิด เพราะศาสนาไม่ควรรับรองกรรมในเเง่ข้ามภพชาติแบบนั้น


อนงค์ ทองหยิบและทองก้อนก็ไม่ได้โกรธที่โจฆ่าพวกเขาเมื่อชาติที่แล้ว ทุกคน (ตน/ตัว?) มองถึงการกระทำของโจในปัจจุบัน และขอบคุณที่โจไม่กลัวพวกเขา ส่วนความรักของอนงค์กับโจ (ผีกับคน) ก็ให้มิติในการมองผีที่ดีขึ้นคือ ผีกับคนรักกันได้ ต่างกับความเชื่อที่ว่า รักกับผีแล้วผีจะเอาไปอยู่ด้วย ซึ่งอนงค์บอกว่าเธอไม่เคยอยากเอาโจไปอยู่ด้วยหรือฆ่าโจให้ตาย เธอยังช่วยปกป้องโจเมื่อมีคนมาทำร้ายเขาด้วยซ้ำ


สรุปคือ หนังเรื่องนี้เเม้จะผลิตซ้ำความเชื่อเดิมๆ แบบไทย เเต่ก็ให้มุมมองอื่นๆ ที่ต่างออกไป ช่วยให้เรารู้สึกรักผีหรือพยายามเข้าใจพวกเขาได้ดีเลยครับ


เจษฎา บัวบาล

12 ตุลาคม 2567

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก M Studio

Comments