ผีพี่นาค: ความทุกข์ที่ถูกสร้างโดยสังคมและข้อจำกัดในการปรับตัวของพุทธศาสนาแบบรัฐไทย

หนังเรื่อง “พี่นาค” ชี้ให้เห็นถึงความทุกข์ของคนที่ไม่ได้บวช ดังตัวอย่างของการอยากตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ของนาคนนท์และนาคสน และการหวังจะใช้สถานะพระช่วยให้ตนพ้นจากทุกข์คือการดูถูกเหยียดหยามของนาคติณณ์ แท้จริงแล้วพุทธแบบไทยได้สร้างความทุกข์และความเชื่อเหล่านั้นขึ้น แต่การปกครองแบบรวมอำนาจคณะสงฆ์ในปัจจุบันกลับไม่สามารถช่วยให้คนบางกลุ่มเข้าถึงสถานะนั้นเพื่อบำบัดทุกข์ทางสังคมนั้นได้




“ผู้พิทักษ์ศาสนา” แนวคิดที่แฝงด้วยการใช้ความรุนเเรง

พยานาคถูกตีความว่าเป็นคนพื้นเมืองซึ่งพุทธศาสนาที่เพิ่งเข้ามาใหม่ต้องปะทะด้วย การบวชนาคไม่มีในพุทธบัญญัติและในศรีลังกา แต่ถูกแต่งขึ้นในอุษาคเนย์เพื่อต่อสู้กับศาสนาพื้นถิ่นที่เชื่อเรื่องนาค (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2559) คือนอกจากจะมองว่านาคเป็นคนท้องถิ่นแล้ว คนเเถบนี้ยังเชื่อเรื่องพยานาคศักดิ์สิทธิ์ที่ให้คุณให้โทษกับพวกเขา ศาสนาพุทธจึงต้องสอนว่า พยานาคที่มีอำนาจก็ยังศรัทธาต่อพุทธะและอยากบวช แต่เมื่อบวชไม่ได้ ก็ขอเป็นผู้ปกป้องพุทธศาสนาแทน เรื่องเล่านี้ช่วยให้พยานาคอยู่ใต้ศาสนาพุทธอีกทีหนึ่ง 


การต้องปะทะกับความเชื่อท้องถิ่นและทำให้เขามานับถือพุทธพบได้ทั่วไป คุรุปัทมะสัมภวะเมื่อถูกเชิญไปทิเบตก็ต้องต่อสู้กับเทพท้องถิ่น เมื่อเอาชนะได้แล้วก็แปลงพวกเขาให้มาเป็นเทพของพุทธแล้วให้ทำหน้าที่ปกป้องศาสนาหรือที่เรียกว่า dharmapala (Weeks 2015, p. 18) เรื่อง “พี่นาค 3” พระก็ใช้คาถาท้าวเวสสุวัณในการรักษาแผลให้อ๊อด ด้วยความเชื่อว่า ท้าวเวสสุวัณเป็นหัวหน้าผี/เทวดา/ยักษ์ ฉะนั้นให้ผีที่เบียดเบียนชาวพุทธอยู่จะเลิกพฤติกรรมนั้น เพราะหัวหน้าพวกเขาก็ยังนับถือพุทธ (กิติยวดี ชาญประโคน, 2017, น. 36)


จุดพีคของพี่นาค 3 คือ การที่ผีนาคไม่ยอมให้อภัยและตามจองเวรอ๊อด สุดท้ายเขาก็ถูกพยานาคจัดการ ซึ่งพระอธิบายย้ำว่า “นาคได้ตั้งใจถวายตนปกป้องพุทธศาสนา” นั่นหมายความว่า เมื่ออ๊อดอยากบวชซึ่งถือเป็นหนึ่งวิธีในการรักษาศาสนา พยานาคก็จะปกป้องคนที่มารุกรานชาวพุทธผู้ศรัทธาด้วย ความเชื่อนี้เปิดโอกาสสู่การฆ่าได้หากมองว่าผู้นั้นเป็นภัยหรือทำลายพุทธศาสนา จะเห็นว่า คำสอนเรื่องความเมตตานี้มีข้อจำกัด ไม่ใช่การต้องเมตตาหรือสงเคราะห์ทุกสรรพสัตว์ ซึ่งโยงไปสู่การต้องทำตามหน้าที่ ไม่ต้องปรับตัวเพื่อสงเคราะห์คนแบบเรื่องราวข้างล่างด้วย


“บวชพระได้บุญมาก” ความเชื่อที่สร้างทุกข์ให้กับผู้ไม่ได้บวช

ไม่ใช่เฉพาะคนที่ไม่ได้บวช เช่น ผู้หญิงหรือคนพิการเป็นต้นเท่านั้น แม้ผู้ชายหรือกะเทยเองที่มีคุณสมบัติบวชได้ หลายคนก็ไม่อยากบวชอาจเพราะไม่ได้ศรัทธาศาสนาหรือไม่อยากโกนผมเป็นต้น แต่การปฏิเสธที่จะบวชในบริบทของสังคมพุทธเเบบไทยนี้ก็ทำได้ยาก เพราะมีเงื่อนไขเรื่องความกตัญญูมาบีบ 


Andaya Barbara (2002) เสนอว่า สังคมไทยประสบความสำเร็จในการดึงคนเข้ามาบวชพระ เพราะสร้างเรื่องราวของการบวชเเล้วได้บุญมากเพื่อตอบเเทนพระคุณแม่ จากที่เเต่เดิมการบวชอาจเน้นไปที่อยากศึกษาหรือปฏิบัติธรรม เราอาจพูดได้ว่า พุทธศาสนาแบบไทยที่ปรับตัวเพื่อดึงคนท้องถิ่นได้สร้างความเชื่อนี้ขึ้นมาเอง และต่อมาเมื่อพุทธศาสนามีข้อจำกัดเช่น ตีความว่าคนพิการ คนข้ามเพศ ฯลฯ บวชไม่ได้ กลายเป็นว่าพุทธศาสนาได้สร้างทุกข์ให้กับคนที่ถูกปฏิเสธเหล่านี้ไปในตัว


นาคนนท์ใน “พี่นาค 1” ถูกหล่อหลอมมาว่า เมื่อเป็นนักเลง ติดคุก ทำให้พ่อแม่เสียใจ ทางเดียวที่จะทำให้สบายใจหรือเกาะชายจีวรขึ้นสวรรค์ได้คือ “บวชให้ท่าน” แต่พอตายเพราะอุบัติเหตุเสียก่อน นาคนนท์จึงผูกอาฆาตว่า หากตนไม่ได้บวช คนอื่นก็ต้องไม่ได้บวช และเขาก็ตามขัดขวางการบวชของนาคคนอื่นๆ 


การที่นาคนนท์ตายไปก่อนบวชทำให้แม่ผิดหวังจนเป็นบ้า เธอเก็บอุปกรณ์การบวชทุกอย่างไว้ในศาลนาคนนท์ เมื่อผีนาคนนท์จะบวช เธอก็เอาจีวรมายื่นให้ คือความทุกข์ของทั้งสองจะจบลงได้เพียงเพราะนาคนนท์ได้บวช แม่เองมาหายบ้าตอนที่ขอร้องให้ลูกเลิกฆ่าคน โดยพูดว่า “ไม่ต้องบวชก็ได้ การบวชไม่สำคัญเท่ากับการที่ลูกได้หลุดพ้น (คือหยุดทำร้ายอื่น)” เมื่อคิดแบบนี้ได้ นาคนนท์ก็ได้ไปเกิด แม่เองก็หายบ้าด้วย


ตีความได้ว่า เเม่หายบ้าและนาคนนท์เลิกจองเวรเพราะมาตระหนักได้ว่า “การบวชไม่ได้สำคัญ” (หากเทียบกับการไม่ทำร้ายใคร) เมื่อทั้งสองก้าวข้ามความเชื่อเรื่องความสำคัญในการบวชไปได้ พวกเขาก็พ้นทุกข์ นั่นคือ ประเพณีและความเชื่อเเบบพุทธไทยต่างหากที่ทำให้เขาติดจมอยู่กับความทุกข์ที่ผ่านมา


“เฟิร์ส” เป็นกะเทยที่พ่อรับไม่ได้ แต่เมื่อจะบวชให้ พ่อก็ดีใจมากและมาร่วมงานด้วย เฟิร์สและบอลลูนจึงมองว่า นั่นเป็นทางเดียวที่จะทำให้พ่อภาคภูมิใจในตัวเธอ เราจะเห็นว่า ความสุขที่ทุกคนจะได้มีหรือช่วยเชื่อมสัมพันธ์ของครอบครัวคือ “การบวชเพื่อทดแทนบุญคุณ” ซึ่งพุทธเเบบไทยได้สร้างบรรทัดฐานไว้ให้


นาคสนใน “พี่นาค 2” ก็เช่นเดียวกัน เขาผูกอาฆาตเฟิร์สและบอลลูนเพราะชาติที่แล้วทั้งสองปฏิเสธเขาและไม่ยอมสวดศพให้แม่เขา เเม่เขาก็คาดหวังอย่างมากว่าลูกต้องบวช ซึ่งความเชื่อว่าการบวชจะได้บุญมาก หรือคนตายแล้วต้องสวดศพจึงจะไปสุคติ เป็นความเชื่อที่พุทธแบบไทยปลูกฝังมาตลอด กลายเป็นว่า พิธีกรรมหรือประเพณีนี้สร้างความทุกข์ให้กับคนที่ไม่สามารถทำตามข้อเรียกร้องนั้นได้ 


ไม่ปฏิเสธที่จะบวชให้ เเต่ผลักภาระให้เป็นความผิดของเหยื่อ

กรณีของนาคนนท์ พระได้ทำพิธีีบวชให้เขา นี่ดูเหมือนการยอมปรับตัวแล้วอย่างมาก เช่น บวชออนไลน์โดยใช้วีดีโอคอลได้ (สิ่งนี้อาจทำได้จริง เช่นกรณีของการบวชด้วยทูตของภิกษุณี) และแทนที่จะมีพระ 5 รูป ก็ใช้พระรูปเดียว แต่พิธีกรรมก็ยุติลงโดยที่พระชี้ให้เห็นว่า “นาคนนท์บวชไม่ได้เพราะไม่มีคุณสมบัติเอง ไม่ได้ถูกกีดกันจากพุทธศาสนา”




กรณีของนาคติณณ์ก็คล้ายกัน พระไม่ปฏิเสธโดยตรง แต่ชี้ให้เห็นว่า นาคติณณ์ควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือเมื่อถูกบูลลี่ ก็ทำใจให้ยอมรับให้ได้ หรือทำให้คนอื่นยอมรับด้านอื่นๆ ของตนเอง ไม่ใช่การใช้สถานะพระเป็นทางออก อันนี้ล้ำลึกไปกว่ากรณีแรก คือพระไม่อ้างเรื่องปาก/จมูกแหว่งของนาคติณณ์ที่จะไม่ให้บวช แต่บอกให้ไปแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แบบที่คนพุทธอนุรักษ์นิยมไม่ให้ผู้หญิงบวชแล้วอ้างว่า ฆราวาสก็บรรลุธรรมได้ ไม่จำเป็นต้องบวช แต่พวกเขาไม่ตั้งคำถามนี้กับผู้ชาย


พุทธไทยปรับตัวเก่ง แต่ถูกจำกัดด้วยการรวมศูนย์อำนาจ

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แม้การปกครองคณะสงฆ์จะเป็นแบบรวมศูนย์เช่นปัจจุบันแล้ว แต่การไม่มีสื่อโซเชี่ยลทำให้พุทธศาสนายืดหยุ่นมากกว่า เช่น หลวงพ่อทอง เจ้าอาวาสวัดหนึ่งในนครศรีธรรมราช มีชื่อเสียงในการรักษาโรค และตั้งข้อเรียกร้องว่า คนที่หายป่วยต้องบวชอย่างน้อย 7 วัน เมื่อเป็นชายก็ให้บวชพระ เป็นหญิงก็ให้บวชชี (เล่าโดยเเม่ชีที่บวชมา 30 พรรษาและปัจจุบันอายุราว 70)


ที่น่าสนใจคือ มีมุสลิมจำนวนหนึ่งที่มาบวชด้วย หลวงพ่อก็ยกเว้นให้ว่าไม่ต้องออกไปบิณฑบาต เพราะเมื่อเพื่อนบ้านเห็นจะตำหนิเอาได้ (ว่ามาบวชในศาสนาพุทธ) พูดง่ายๆ คือ มุสลิมเหล่านี้ไม่ได้ศรัทธาในพระรัตนตรัยเลย ไม่ได้อยากบวชด้วย แต่ก็ต้องบวชเหมือนกับต้องเเก้บน และเมื่อผมเป็นเณรเมื่อ 20 ปีก่อนก็ยังพบเจอพระจำนวนหนึ่งที่ปากเเหว่ง หูหนวก มือขาด ฯลฯ บางคนช่วยตัวเองได้ บางคนต้องให้ญาติมาดูแล เเต่เพราะการบวชอยู่วัดเป็นชุมชนเล็กๆ จึงไม่มีเรื่องอื้อฉาวแบบปัจจุบัน นั่นคือหากมีข่าวคนพิการหรือคนต่างศาสนาได้บวช เจ้าอาวาสและพระอุปัชฌาย์คงถูกลงโทษจากส่วนกลาง ทำให้เขาไม่กล้าสงเคราะห์คนในชุมชนเช่นในอดีต


อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ ยืนยันว่าเขาช่วยเหลือตัวเองและทำกิจของสงฆ์ได้ แม้จะนั่งบนวีลแชร์ แต่ก็ถูกพระปฏิเสธว่าคนพิการบวชไม่ได้ (Thisable.me, 2023) หนังน้องเดียว ลูกทุ่งวัฒนธรรมก็ถูกปฏิเสธไม่ให้บวช (MGRONLIN, 2562) จริงๆ แล้ว ศาสนาพุทธตามคัมภีร์ก็เน้นภาพลักษณ์ของพระเพื่อสร้างศรัทธา จึงมีบัญญัติว่าไม่ควรบวชให้คนอ้วนเกินไป คนผอมเกินไป คนดำเกินไป คนขาวเกินไป (อ่านเพิ่มเติมจาก 84000, ก) ซึ่งอรรถกถาเรียกคนเหล่านี้ว่า “ปริสทูสกะ หรือ ผู้ประทุษร้ายบริษัท” ทำนองว่า ชาวบ้านเห็นแล้วรู้สึกแปลกๆ ไม่น่าศรัทธา (ตามความเชื่อสมัยพุทธกาล) (84000, ข)


แต่คำว่า “ไม่ควรให้บวช” ไม่ได้หมายความว่า “ห้ามบวช” ที่สำคัญคือ การบวชให้คนพิการจัดเป็นอาบัติทุกกฎ ซึ่งเป็นอาบัติเบาที่สุด และไม่บัญญัติด้วยว่า “ต้องให้สึกเสีย” หากอุปัชฌาย์พร้อมจะสงเคราะห์เขาก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย แต่ปัญหาอยู่ตรงที่อุปัชฌาย์กลัวการถูกลงโทษจากมหาเถรสมาคมนั่นเอง นี่เป็นข้อด้อยของการปกครองที่ไม่ยอมให้แต่ละชุมชนจัดการกันเอง ในขณะที่พระในศรีลังกาและอินโดนีเซียมีอิสระในการปกครองมากกว่า เช่น พวกเขาสนับสนุนให้บวชภิกษุณีได้ เเม้จะมีคณะสงฆ์อื่นเห็นต่าง แต่ก็ไม่มีอำนาจมาจับสึกเขา (เจษฎา บัวบาล, 2567)


เราจะเห็นปัญหาในการปรับตัวของพุทธเถรวาท ที่ถูกอำนาจรัฐจำกัดการตีความจนกีดกันคนบางกลุ่มออกจากพื้นที่ศาสนา คำสอนเรื่องการปล่อยวางหรือให้อภัยในหนังเรื่อง “พี่นาค” จึงเป็นทางออกที่พระนำมาใช้เพราะตนไม่สามารถปรับตัวเพื่อรับความหลากหลายได้ จึงเน้นสอนให้เขาเเก้ปัญหาที่จิตใจแทนการพูดถึงสิทธิในการเข้าสู่พื้นที่ศาสนา


โดย เจษฎา บัวบาล

25 มีนาคม 2567

...............................

อ้างอิง

Andaya, B. W. (2002). Localising the universal: Women, motherhood and the appeal of early Theravada Buddhism. Journal of Southeast Asian Studies, 33(1), 1-30.


กิติยวดี ชาญประโคน. (2017). ท้าวเวสสุวัณในสังคมและวัฒนธรรมไทย. วารสารรามคำแหง ฉบับ มนุษยศาสตร์, 36(2), 27-46.


เจษฎา บัวบาล. (2567). บวชๆ สึกๆ ก็ยังดีกว่าบวชแล้วสึกไม่ได้. 

เข้าถึงจาก https://www.theprachakorn.com/newsDetail.php?id=871.


สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2559). นาคไม่ใช่คน พุทธปะทะผี แล้วต่อรองในพิธีบวชนาค. 

เข้าถึงจาก https://t.ly/LtLhY.


84000, ก. วินัยปิฎก มหาวรรค มหาขันธกะ บุคคลไม่ควรให้อุปสมบท 20 จำพวก บุคคลไม่ควรให้บรรพชา 32 จำพวก เข้าถึงจาก 

https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=4&A=3609&Z=3701.


84000, ข. อรรถกถา มหาวรรค มหาขันธกะ บุคคลไม่ควรให้อุปสมบท 20 จำพวก บุคคลไม่ควรให้บรรพชา 32 จำพวก เข้าถึงจาก 

https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=04&i=133.

 

MGRONLIN. (2562). ไขปมไฟในใจ “นายหนังตาบอด” กับบทเรียน “น้ำผึ้งหยด(น้อง)เดียว” อันมากค่าต่อสังคม? เข้าถึงจาก https://mgronline.com/south/detail/9620000102833.


Thisable.me. (2023). สรุปเสวนาเสรีภาพหรือเสรีพร่อง 2.0 “คนพิการ อยู่ตรงไหนในศาสนา”.

เข้าถึงจาก https://thisable.me/content/2023/12/909.


Weeks, P. (2015). Tradition and modernity in the transformation of Tibetan Buddhism (Doctoral dissertation, La Trobe).


เจษฎา บัวบาล

Comments