In the Buddha’s Words: An Anthology of Discourses from the Pali Canon. Edited and Introduced by Bhikkhu Bodhi. USA, Wisdom Publication. 2005. +484 pages
ภาพจาก: readingfaithfully.org
หนังสือด้านพุทธศาสนาเถรวาทของโลกตะวันตกที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยยังน้อยมากหากเทียบกับการแปลเป็นภาษาอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย อันเป็นประเทศที่พุทธศาสนาเถรวาทเพิ่งได้รับการฟื้นฟูตั้งแต่ ค.ศ. 1934 แม้หนังสือเล่มที่ผู้เขียนกำลังจะปริทัศน์นี้คือ “พุทธวจนะ: ชุมนุมเทศนาจากพระไตรปิฎกบาลี” ซึ่งรวบรวมและเขียนคำนำเสนอแต่ละบทโดย ภิกขุโพธิ ก็ได้รับการแปลเป็นภาษาอินโดแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 [1]
หนังสือเล่มนี้ เป็นหนึ่งในห้าเล่มซึ่งตีพิมพ์เป็นซีรี่ของสำนักพิมพ์ Wisdom อันประกอบด้วย ทีฆนิกาย (The Long Discourses of the Buddha), มัชฌิมนิกาย (The Middle Length Discourses of the Buddha), สังยุตตนิกาย (The Connected Discourses of the Buddha), และ พุทธมหาสาวก (Great Disciples of the Buddha) อาจกล่าวได้ว่า เหตุที่ประเทศไทยไม่นิยมที่จะแปลหรืออ้างอิงหนังสือวิชาการด้านพุทธศาสนาจากต่างประเทศน่าจะเป็นเพราะมีความมั่นใจว่าทั้งทรัพยากรด้านตำราและคณาจารย์ของไทยมีมากพออยู่แล้ว จึงส่งผลให้ผู้ศึกษาพุทธศาสนาถูกลดทอนโอกาสที่จะรับรู้การนำเสนอและตีความพุทธศาสนาในมิติอื่นๆ ไปเสีย
หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เป็นหนังสือศาสนาที่เขียนขึ้นเพื่อสนองความต้องการของศรัทธาชน หากแต่เป็นหนังสือวิชาการที่เต็มไปด้วยข้อเสนอและแหล่งอ้างอิงทั้งปฐมภูมิ (พระไตรปิฎกและอรรถกถา) และทุติยภูมิ (หนังสือศาสนาที่เขียนโดยนักวิชาการ) “ภิกขุโพธิ” ชาวอเมริกันผู้สนใจศึกษาพุทธศาสนาเถรวาท ได้อุปสมบทและศึกษาพุทธศาสนาพร้อมทั้งภาษาบาลีจากศรีลังกากระทั่งช่ำชองและสร้างคุณูปการให้กับการศึกษาพุทธศาสนาเถรวาทกับวงวิชาการนานาชาติมิใช่น้อย ซึ่งภิกขุโพธิมิเพียงแต่พยายามแปลพระสูตรบาลีเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น หากแต่ยังสามารถเขียนบทนำเสนอชักจูงให้ผู้อ่านวิเคราะห์และตีความคำสอนออกเป็นหลายมิติอีกด้วย ตัวอย่างที่น่าสนใจคือการเขียน Endnote (หน้า 425-458) ซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับประเด็นปลีกย่อยได้เป็นอย่างดี เช่น การเรียก คนแก่ คนเจ็บ คนตาย ว่า เทวทูต (Divine messengers) เป็นเพราะว่า จากการบอกเล่าของอรรถกถา ปรากฏการณ์เหล่านั้นถูกเนรมิตขึ้นจากเทวดาผู้ประสงค์จะจุดประกายการออกบวชของสิทธัตถะ (หน้า 426)
ภิกขุโพธิชี้ให้เห็นว่าพระสูตรหรือการเทศน์สอนของพระพุทธเจ้ามีความหลากหลาย ดังนั้นจึงไม่สามารถหยิบยกเอาพระสูตรเดียวมานำเสนอแล้วบอกว่าถูกต้อง ครบถ้วนหรือดีกว่าพระสูตรอื่นๆ ด้วยว่าพระพุทธเจ้าเองล้วนคัดสรรธรรมะแต่ละประเภทให้เหมาะสมแก่ภูมิปัญญาของผู้ฟังตามโอกาส ภิกขุโพธิได้เทียบเคียงกับการถ่ายทอดความรู้แบบโบราณเช่นที่ปรากฏในศาสนาพราหมณ์ว่า ครูอาจารย์ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้หลักการเบื้องต้นให้ ส่วนการจะเป็นผู้ช่ำชองในวิชานั้นๆ จะต้องเป็นความพยายามและกุศโลบายในการฝึกตนของนักเรียนเอง ทั้งนี้ คำสอนของพระพุทธเจ้าในระยะแรกถูกรักษาผ่านการท่องจำ มิใช่เกิดจากการเขียนคัมภีร์โดยพระพุทธเจ้าเอง แม้การท่องจำเองก็มิใช่การท่องศัพท์ต่อศัพท์ที่ตรงกับทุกคำพูดของพระพุทธเจ้า หากแต่เป็นการสรุปใจความสำคัญและมีหลักเกณฑ์ในการนำเสนอ (Systematized) อาจเริ่มต้นด้วยการพูดถึงสถานที่แสดงธรรม บุคคลผู้ฟังธรรม ตลอดจนเนื้อหาของหลักธรรมซึ่งหากเป็นประเด็นเดียวกันก็จะเหมือนกันโดยพยัญชนะ สิ่งนี้เกิดจากการผลิตรูปแบบเพื่อให้ง่ายต่อการท่องจำคำสอนจำนวนมหาศาล (หน้า 6-7)
“นิกายะและอาคะมะ” (Nikaya-Agama) เป็นชื่อเรียกหมวดหมู่ของคำเทศนาของพระพุทธเจ้าซึ่งพัฒนามาจากการจัดรูปแบบเดิมคือ “นวังคสัตถุศาสน์” และกลายเป็นที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบัน แท้จริง คำสอนของพุทธศาสนาในหลายนิกาย (Sects) เมื่อพิจารณาพระสูตร (หรือ นิกายะ-อาคะมะ) ทั้งสี่คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย และ อังคุตตรนิกาย ล้วนมีความใกล้เคียงกัน (แม้กับฉบับภาษาจีนซึ่งถูกแปลและรวบรวมมาจากหลายนิกาย) กล่าวคือ การแตกออกเป็นนิกายต่างๆ ของพุทธศาสนาโดยหลักแล้วเกิดจากการตีความเนื้อหาภายในพระสูตรเหล่านี้ที่แตกต่างกันไป บ้างก็แต่คัมภีร์ขึ้นเพิ่มเติมเพื่อยืนยันหลักการในนิกายของตนให้ต่างไปจากนิกายอื่นๆ เช่น กถาวัตถุ ของเถรวาทเมื่อครั้งสังคายนาครั้งที่ 3 อีกทั้งคัมภีร์อื่นๆ ที่ตามมาภายหลัง เช่น วิสุทธิมรรคและมิลินทปัญหา
อนึ่ง ขณะที่นิยามของพุทธศาสนาเถรวาทของ ปยุตฺโต หมายถึงรูปแบบพุทธศาสนาที่ยึดคัมภีร์บาลีอันเกิดจากการสังคายนาของพระเถระห้าร้อยรูปตั้งแต่หลังพุทธปรินิพพาน ภิกขุโพธิกลับนิยามเถรวาทว่าเป็น พุทธศาสนานิกายหนึ่งซึ่งพัฒนาการมาเรื่อยๆ นับจากการบรรลุธรรมของพระพุทธเจ้าจนปฐมสังคายนา (Early Buddhism) ตลอดจนการแยกออกเป็นนิกายต่างๆ มีการผสมผสานความเชื่อของแต่ละนิกาย จนกระทั่งนำไปสู่การจารึกพระไตรปิฎกครั้งแรกขึ้นที่ประเทศศรีลังกาเมื่อพุทธศตวรรษที่ 7 (ดู General Introduction หน้า 5-14) กล่าวให้สั้นคือ เถรวาทของปยุตฺโตอาศัยการก่อตัวขึ้นราว 45 ปี ขณะที่ภิกขุโพธิเสนอว่ายาวนานมากกว่า 700 ปี จึงไม่แปลกนักที่ภิกขุโพธิจะยอมรับความหลากหลายของคัมภีร์ มากกว่าจะอ้างอิงความเคร่งครัดและจริงแท้ของเถรวาทแบบที่ปยุตฺโตสมาทาน
ภิกขุโพธินำเสนอเนื้อหาแต่ละพระสูตรตามหมวดหมู่ซึ่งตนได้เขียนคำนำ (Introduction) เพื่อชี้แจงเหตุผลและตั้งข้อสังเกตก่อนที่จะเปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้พบกับพระสูตรจริง ทั้งหมดแบ่งเป็น 10 บท โดยเริ่มจาก บทแรก “เงื่อนไขของชีวิตมนุษย์” เพื่อให้เห็นสัจธรรมในมิติต่างๆ เช่น ความแก่ เจ็บ ตาย ความกังวลที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลง สาเหตุของความขัดแย้งและสังสารวัฏอันหาเบื้องต้นและที่สุดไม่ได้ ซึ่งส่งผลเป็นความทุกข์สำหรับมนุษย์ทั่วไป พุทธศาสนามิได้เสนอสิ่งเหล่านี้เพื่อให้มนุษย์จมอยู่ในความทุกข์ หากแต่เสนอว่ามนุษย์สามารถหาทางออกได้ อย่างน้อยที่สุดในเบื้องต้นจะต้องพัฒนา โยนิโสมนสิการ (Careful attention) ขึ้นเพื่อจะได้ตระหนักและทำความเข้าใจปรากฏการณ์เหล่านี้เสียก่อน อันจะนำไปสู่ขั้นตอนถัดไป
บทที่ 2 “ผู้นำพาแสงสว่าง” บทนี้มุ่งนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าในฐานะผู้ค้นพบและประกาศสัจธรรมที่จะนำพาสรรพสัตว์ให้พ้นไปจากทุกข์ ข้อแตกต่างประการหนึ่งระหว่าง ภิกขุโพธิ และ ปยุตฺโต (โดยเฉพาะหนังสือ พุทธธรรม) คือ แม้ทั้งสองจะได้รับอิทธิพลจากความเป็นสมัยใหม่ ซึ่งส่งผลให้เกิดการตีความคำสอนไปในทางมนุษย์นิยม (Humanism) ปยุตฺโต กลับเลือกที่จะไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งเร้นลับเหนือธรรมชาติและเสนอว่าสิ่งเหล่านั้นมิใช่สาระที่จะพึงเน้น เช่น การเล่าพุทธประวัติที่ ปยุตฺโต นำเสนอพระพุทธเจ้าในฐานะบุคคลทางประวัติศาสตร์ บรรยายถึงชมพูทวีป เรื่องราวของสิทธัตถะในวัยต่างๆ [2] โดยมิกล่าวถึงการจุติจากภพดุสิตในฐานะเทวดา ตลอดจนการดำเนินได้เจ็ดก้าวเมื่อแรกประสูติเป็นต้น ปยุตฺโตเลือกนำเสนอเฉพาะพระสูตรที่มีเหตุมีผล
ในขณะที่ ภิกขุโพธิยอมรับว่า พุทธศาสนาเถรวาทแยกไม่ออกจากเรื่องเล่าเหนือธรรมชาติเหล่านั้น คำว่า ตถาคต หรือที่แปลกันว่า ผู้เสด็จมาอย่างนั้น (the one who has come thus) และผู้เสด็จไปอย่างนั้น (the one who has gone thus) มิได้สื่อถึงพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันเท่านั้น หากแต่การเสด็จมาและเสด็จไป(สู่พระนิพพาน)เช่นนั้นเป็นการดำเนินรอยตามพระพุทธเจ้าที่มีมาแต่อดีตและจะมีในอนาคตอีกนับไม่ถ้วน แต่ก็ไม่พึงเข้าใจว่า ภิกขุโพธิจะไม่ให้ความสำคัญกับการตีความแบบมนุษย์นิยมเสียเลย ดังกรณีของท้าวสหัมบดีพรหมผู้ซึ่งมานิมนต์ให้พระพุทธเจ้าไปแสดงธรรม ภิกขุโพธิมองว่าอาจมีโอกาสเป็นไปได้ทั้งในเรื่องปาฏิหาริย์และอาจเป็นความคิดที่จะแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าเอง แต่เรื่องราวถูกนำเสนอผ่านระบบสัญญะแบบตำนาน (mystical symbolic mode) ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการบอกเล่าเรื่องราวแบบอดีต
ภิกขุโพธิได้ชี้ให้เห็นว่า พุทธศาสนาเถรวาทในแง่ที่เน้นมนุษย์นิยมยังดำรงอยู่ได้ในโลกสมัยใหม่โดยมิต้องลดทอนหรือเลือกที่จะไม่กล่าวถึงเรื่องเหนือธรรมชาติ ตัวอย่างอีกประการหนึ่งคือ ปฏิจจสมุปบาทที่พุทธศาสนานิกายอื่นๆ หมายเอาการรวมตัวกันของเหตุปัจจัยและให้กำเนิดสรรพสิ่ง พุทธศาสนาเถรวาทกลับอธิบายปฏิจจสมุปบาทในมิติของการก่อเกิดแห่งทุกข์ (และกระบวนการดับทุกข์) เท่านั้น (หน้า 47) จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า การอ่านหนังสือของภิกขุโพธิ จะให้มิติของพุทธศาสนาเถรวาทที่มีกระบวนการในการพยายามสร้างอัตลักษณ์ได้ชัดเจนกว่างานของปยุตฺโต
บทที่ 3 “กระบวน/ระเบียบวิธีในการเข้าสู่ธรรมะ” บทนี้ได้นำเสนอถึงวิธีการที่ชาวพุทธจะเข้าถึงศาสนาผ่านการเรียนและปฏิบัติ โดยยกกรณีตัวอย่างของชาวบ้าน “กาลามะ” ผู้ซึ่งต้องเลือกที่จะสมาทานหลักปฏิบัติที่หลากหลาย เนื่องจากศาสดาแต่ละท่านล้วนเสนอว่าศาสนาของตนดีที่สุด การให้หลักพิจารณา 10 ประการก่อนจะเชื่อสิ่งใด สำหรับภิกขุโพธิแล้ว ถือเป็นการสะท้อนหลักการของพุทธศาสนาที่มิใช่ศาสนาเร้นลับที่เหนือศักยภาพมนุษย์ที่จะพิสูจน์สิ่งนั้นให้กระจ่างชัดเสียก่อนจึงจะตกลงใจรับเอา
อย่างไรก็ตาม หลักกาลามสูตรทั้ง 10 ข้อมิใช่ศาสนาใหม่ที่บุคคลจะสมาทาน หากแต่เป็นเครื่องมืออันหนึ่งอันจะนำไปตรวจสอบหลักการของศาสนานั้นๆ ก่อนที่จะกลายเป็นศาสนิกที่ดีในศาสนานั้น พระสูตรสำคัญอีกแห่งหนึ่งคือ วีมังสกสูตร ซึ่งพระพุทธเจ้าแนะนำให้ตรวจสอบพระองค์ก่อนจะยอมรับ ทั้งนี้แม้คุณธรรมความเป็นอรหันต์ด้านในจะพิสูจน์ไม่ได้ แต่คนทั่วไปสามารถสังเกตพฤติกรรมทางกายและวาจาผ่านการอยู่ร่วมกันได้ จะเห็นว่า ในบางมิติ พุทธศาสนาเถรวาทเองก็พยายามจะลดทอนความศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติให้อยู่ในระดับการดำเนินชีวิตแบบสามัญเช่นเดียวกัน
บทที่ 4 “ความสุขที่เห็นได้ในปัจจุบัน” และ บทที่ 5 “หนทางสู่การเกิดใหม่ที่ดี” สองบทนี้สะท้อนอย่างชัดเจนว่า พุทธศาสนามิได้มีเป้าหมายเพื่อให้คนบรรลุนิพพานเท่านั้น เพราะต้องตระหนักถึงความสามารถ ข้อจำกัดหรืออินทรีย์ของแต่ละบุคคล ดังนั้นจึงต้องเสนอวิธีปฏิบัติเพื่อให้ผู้คนมีความสุขแม้ในชีวิตปัจจุบันและหากไม่สามารถบรรลุธรรมได้ ก็จะเกิดใหม่ในภพที่ดีอันจะเอื้อต่อการพัฒนาตนได้ใหม่อีกครั้ง นั่นหมายความว่า พุทธศาสนามิได้ปฏิเสธมนุษย์ในฐานะเป็นสัตว์สังคม ธรรมะบางสูตรจึงถูกจัดสรรเพื่อการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นหรือที่เรียกว่า โลกิยะ เช่น จักกวัตติสูตร (การปกครอง) และสิงคาลกสูตร (การปฏิบัติต่อบุคคลรอบข้าง) ความเชื่อเรื่องบุญ กรรม การแบ่งปัน การสมาทานศีล ตลอดจนการทำสมาธิและเจริญพรหมวิหาร
ทั้งนี้แม้การปฏิบัติธรรมด้วยวิธี เจริญเมตตาภาวนา (The Development of Loving-kindness) ก็ถูกเน้นย้ำในคัมภีร์เถรวาท (หน้า 176) และเป็นที่นิยมของสังคมพุทธเถรวาทอื่นๆ เช่น ศรีลังกา พม่า อินโดนีเซีย วิธีการในการปฏิบัติคือ ทุกลมหายใจเข้าออกจะบริกรรมไปพร้อมกับการสร้างความรู้สึกในใจว่า ขอให้สัตว์ทั้งปวงจงมีความสุขเถิดฯลฯ ซึ่งการปฏิบัติสมาธิแบบนี้กลับไม่ค่อยถูกพูดถึงในสังคมไทยมากเท่ากับการบริกรรม “พุทโธ” “สัมมา-อะระหัง” หรือ “ยุบหนอ-พองหนอ” ซึ่งอันหลังนี้ถูกดัดแปลงมาจากรูปแบบของพม่าโดยพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ) ประเด็นนี้ชี้ให้เห็นว่า วิธีการที่ถูกปรับให้เหมาะกับท้องถิ่นตนเอง (Localized tradition) หรือสร้างอัตลักษณ์ของตนเองขึ้นเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่พุทธศาสนาในเมืองไทย
บทที่ 6 “การเข้าใจโลกอย่างแจ่มชัด” บทที่ 7 “ทางสู่การพ้นทุกข์” บทที่ 8 “การฝึกจิต” บทที่ 9 “การส่องสว่างของปัญญา และบทที่ 10 “ระดับของการบรรลุธรรม” ทั้งห้าบทนี้กล่าวถึงพุทธศาสนาในระดับของการพ้นทุกข์หรือโลกุตตระ เนื้อหาสะท้อนให้เห็นว่า แม้สวรรค์หรือภพที่ดีก็มิใช่เป้าหมายสูงสุดของมนุษย์ หากแต่เป็นทางผ่านชั่วคราวเท่านั้น พุทธศาสนาจะเริ่มจากการชี้ให้เห็นคุณ (อัสสาทะ) เห็นโทษ (อาทีนวะ) และ การสลัดออกเสียให้พ้น (นิสสรณะ) ตามลำดับ กระนั้นภิกขุโพธิก็ย้ำว่า การสลัดออกเสียให้พ้น (Escape) ของพุทธศาสนามิใช่การสร้างความหวาดกลัวแล้วแก้ปัญหาด้วยการหนีไม่เผชิญหน้าในรูปแบบของ Escapism หากแต่เป็นการตระหนักถึงโทษอย่างรู้เท่าทันและไม่ส้องเสพอีก เสมือนผู้เห็นโทษของบุหรี่แล้วเว้นขาดจากการสูบบุหรี่ฉะนั้น (หน้า 187) ขณะที่การปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์เองก็มิได้ละทิ้งสังคมเพื่อมุ่งการพ้นทุกข์แบบปัจเจก กัลยาณมิตร (Spiritual friend) จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการให้คำแนะนำและชักจูงสู่การพัฒนาไตรสิกขา จะเห็นได้ว่า แท้จริงพุทธศาสนาที่ภิกขุโพธิเสนอมีหลายมิติ แต่มักถูกตีความและเลือกนำเสนอแบบคับแคบเพื่อตอบสนองแต่ละสำนัก
ข้อด้อยของหนังสือเล่มนี้คือ ผู้อ่านต้องตระหนักว่า ภิกขุโพธิเองแม้จะนำเสนอความหลากหลายของพุทธศาสนาเถรวาท แต่เพราะต้องอ้างอิงอยู่กับคัมภีร์บาลีเป็นหลัก จึงไม่อาจอธิบายทุกเรื่องให้มีเหตุผลหรือออกนอกกรอบคิดได้อย่างที่นักวิชาการแบบหลังสมัยใหม่ (Post-modernist) คาดหวัง ดังกรณีของ พระอนาคามีบุคคล (หน้า 376) ที่พระสูตรเองก็เปิดโอกาสให้แก่ฆราวาสผู้ครองเรือนได้เข้าถึงธรรมขั้นที่สามแล้ว แต่กระนั้นก็ยังไม่ให้เหตุผลว่าไฉนฆราวาสจึงไม่สามารถบรรลุธรรมขั้นสูงสุดคือ “อรหันต์” แล้วดำเนินชีวิตในแบบฆราวาสต่อไปได้ แน่นอนว่าเหตุผลเรื่องเพศฆราวาสต่ำทรามกว่าเพศบรรพชิตซึ่งปรากฏในคัมภีร์ มิลินทปัญหา อาจเป็นแนวคิดที่ทรงอิทธิพลอันหนึ่งที่ครอบงำแนวคิดของชาวพุทธเถรวาท และแนวคิดนี้อาจกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนการเอาพระสงฆ์เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งแตกต่างจากพุทธศาสนามหายาน [3]
อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้ถือเป็นความพยายามที่จะนำเสนอหลักการพุทธศาสนาเถรวาทให้ครอบคลุมและหลากหลายมากที่สุด โดยอ้างอิงอยู่กับคัมภีร์บาลี การเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างพุทธศาสนาเถรวาทในปัจจุบันกับพุทธนิกายอื่นๆ จะทำให้เห็นพุทธศาสนาเถรวาทในมิติที่มีพัฒนาการหรือพลวัตมากขึ้น สาระของหนังสือเล่มนี้จึงเหมาะแก่นักวิชาการผู้ต้องการศึกษามิติการตีความพระสูตรเพื่อสนับสนุนข้อเสนอแบบวิชาการดังเช่นที่ภิกขุโพธิเชื่อว่าเป็นหลักการใหญ่ของพุทธศาสนา และยังเหมาะแก่ชาวพุทธผู้ประสงค์จะใช้เป็นคู่มือเล่มหนึ่งในการศึกษาและปฏิบัติโดยมุ่งความสุขทั้งในปัจจุบัน โลกหน้าและการพ้นทุกข์ตามคติของศรัทธาชนอีกด้วย
เขียนโดย เจษฎา บัวบาล
(ราวปี พ.ศ. 2558)
Endnote
[1] แปลโดย Hendra Wijaya ให้ชื่อหนังสือว่า Tipitaka Tematik: Sabda Buddha Dalam Kitab Suci Pali (719 หน้า) ผ่านการสนับสนุนและตีพิมพ์โดยเจ้าสำนักพิมพ์ใหญ่คือ เอหิปัสสิโก (Ehipassiko Foundation) ที่ส่งเสริมงานแปลและงานเขียนเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่มีเนื้อหาสอดรับกับความต้องการของผู้คนในโลกสมัยใหม่โดยไม่จำกัดอยู่แต่วงของชาวพุทธ
[2] โปรดดู พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ. พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต). กรุงเทพฯ: บริษัทสหธรรมิก จำกัด, พิมพ์ครั้งที่ 11, 2549, หน้า 2.
แท้จริง งานเขียนของนักวิชาการเถรวาทอื่นๆ อีกไม่น้อยก็เลือกจะลดทอนภาพของพระพุทธเจ้าในรูปแบบปาฏิหาริย์ลง เช่น การพูดถึงสิทธัตถะตั้งแต่การประสูติที่สวนลุมพินี (หน้า 1) ของ ภิกษุนาระทะ (Narada) ชาวศรีลังกา ในหนังสือชื่อ The Buddha and His Teaching. Taiwan: The Corporate Body of The Buddha Educational Foundation. (1988) จำนวน 738 หน้า ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1964 และถูกใช้อ้างอิงอย่างมากในโลกวิชาการพุทธศาสนา
[3] โปรดดู คิหิอรหัตตปัญหา, คัมภีร์มิลินทปัญหา ไทย-บาลี. จัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระพุทธวงศ์มุนี (บุญมา ทีปธมฺโม). กรุงเทพฯ บริษัทประยูรวงศ์พริ้นติ้ง. พิมพ์ครั้งที่ 9. 2550. หน้า 349.
Comments
Post a Comment