เราคาดหวังอะไรเวลาอ่านงานวิชาการ



วิจัย ตามศัพท์แปลว่า ต้นหาซ้ำๆ (research / search again) หมายความว่า แม้คนอื่นๆ จะพูดถึงเรื่องนั้นกันมาเยอะแล้ว แต่หน้าที่นักวิจัยคือ ไปหาดูอีกทีสิว่าที่เขาพูด/เชื่อกันมา ยังมีอะไรบกพร่อง / ผิด / หรือคนอื่นมองข้ามไปบ้าง และเราจะเขียนงานเพื่อนำเสนอในมุมที่คนอื่นยังไม่พูดถึง


คราวนี้ก็จะเจอคำว่า “ใหม่” ซึ่งก็เถียงกันได้อีกว่า ปรากฏการณ์ในโลกนี้มันมีสิ่งใหม่จริงหรือ หรือแค่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าแค่เปลี่ยนรูปแบบหรือเปลี่ยนชื่อเท่านั้น แต่ช่างเถอะ .. สำหรับผม ความใหม่อาจหมายถึงแค่ “จากการค้นคว้าของเรามาพักหนึ่ง ไม่เคยมีคนพูดแบบนี้ แต่เราคิดว่าจากหลักฐานแหล่งต่างๆ เราพอจะเสนอแบบนี้ได้” 


นั่นคือแม้จะทำให้ทุกคนในโลกรู้สึกว่าเป็นมุมใหม่ไม่ได้ โดยเฉพาะนักวิชาการที่เก่งเรื่องนั้นๆและอ่านมาเยอะ “อย่างน้อยเราเองที่ศึกษาเรื่องนี้มา อ่านของคนอื่นมาพอสมควร พอจะบอกตัวเองได้ว่า เออ .. เราก็ไม่เคยเจอข้อเสนอแบบนี้” ถ้ามันไปซ้ำกับของคนอื่น เดี๋ยวผู้อ่านประเมินจะบอกเราเอง และเขาอาจช่วยแนะนำให้หามุมอื่นๆ ดู


เรามักจะเจองานที่แค่ไปรวมรวมมาสรุป เคยมีการสอบวิทยานิพนธ์ ป.เอก เรื่องการรำเปรียบเทียบไทย-อินโดฯ เขียนมาราว 500 หน้า อาจารย์ผู้สอบคนหนึ่งคอมเม้นท์ว่า “ต้องชื่นชมในความขยันสะสมข้อมูล แต่ถ้าเราอ่านเรื่องวัฒนธรรมอยู่บ้าง จะพบว่า สิ่งที่คุณเขียนมามันก็หาอ่านได้ทั่วไป ผมอยากให้คุณไปหาข้อเสนอที่ชัดเจนมา มองในมุมของคุณเอง เขียนให้เหลือ 150 หน้าก็ได้คับ ข้อมูลที่เอาของคนอื่นมาเขียนก็ตัดออกไป ใส่แค่อ้างอิงก็พอ”


ตัวอย่างครับ 

(1) วัฒนธรรมการบวชในไทย .. ข้อเสนอประมาณว่า การบวชเป็นวัฒนธรรมที่ดีงาม ทำให้ผู้ชายได้เรียนรู้พระธรรม เป็นคนดีมีจริยธรรมและต่อให้เขาสึกออกไป ก็กลายเป็นอุบาสกผู้นำครอบครัวที่ดี คนไทยยังเชื่อว่าการบวชช่วยทดแทนบุญคุณพ่อแม่ได้ ... คือการเขียนแบบนี้ เราไม่มุมมองใหม่เลย ก็รู้ๆ กันอยู่แล้ว เหมือนเขียนรายงานส่งครูช่วงประถมมากกว่า


งานวิชาการจะมีมุมอื่นๆ เช่น คนไทยไม่ได้บวชเพราะศรัทธาในศาสนานะ แต่เป็นบันได้เลื่อนชนชั้นทางสังคม หลายคนยากจนไม่มีเงินทุนเล่าเรียน แต่ใช้สถานะนั้นเพื่อเข้าถึงการศึกษาได้ (Bunnag, 1973 and Phra Peter, 2001) 


หรือเรื่องความกตัญญู ที่ Andaya (2002) เสนอว่า เพราะคนในอาเซียนเชื่อเรื่องบุญคุณแม่ การเผยแผ่ศาสนายุคแรกๆ เลยเอาความเชื่อนี้มาชวนคนให้เข้ามาบวช เพื่อตั้งศาสนาให้มั่นคงได้ แม้ในพระไตรปิฎกจะไม่บอกว่าผู้ชายควรไปบวชเพื่อตอบแทนบุญคุณ แต่มันคือการ localize ศาสนาให้เข้ากับความเชื่อคน ฯลฯ การอ่านงานวิชาการพวกนี้ เราจะรู้สึกว่า เออ .. เนี่ย ไม่เคยคิดมาก่อน


(2) เทียบศีลของพระเถรวาทและมหายาน ... โดยเสนอว่า ศีลพระในนิกายนั้นๆ มีเท่านั้นเท่านี้ และให้รายละเอียด อันนี้ก็เป็นข้อมูลที่หาได้จากการอ่านหนังสือ 2 เล่ม คือ หนังสือรวบรวมวินัยของพวกเขา


สิ่งที่เราคาดหวังเวลาอ่านงานนี้คือ ถ้าศีลของเถรวาทมีน้อยกว่า อะไรคือปัจจัยให้มหายานต้องมีมากกว่า ซึ่งต้องอธิบายให้เห็นชุมชน/สังคมที่พระอยู่ ว่าบริบทนั้นแตกต่างกันอย่างไร และจำนวนศีลพวกนั้นจำเป็นกับเขาหรือไม่ ยังไง 


ผมจะยกตัวอย่างมั่วๆ เช่นเสนอว่า “เถรวาทพยายามอ้างว่าตนรักษาแบบฉบับของพุทธไว้อย่างดีที่สุด แต่งานชิ้นนี้เสนอว่า แม้พระมหายานจะปรับตัวไปมาก แต่พวกเขาก็มีศีลที่เคร่งครัดขึ้นและเหมาะกับสังคมปัจจุบันอีกด้วย ดังนั้นการมีศีลที่มากกว่าได้สร้างภาพลักษณ์ความเป็นผู้เคร่งครัดและคู่ควรแก่การถูกเรียกว่าพระแท้และทำตามอุดมคติคือ บรรลุธรรมและช่วยเหลือสรรพสัตว์ไปพร้อมกันได้” เป็นต้นครับ 


โดยสรุปคือ เมื่ออ่านงานวิชาการ เราควรได้เห็นว่าผู้เขียนเขาตกผลึกได้ข้อเสนอบางอย่างมา  คือมีเเง่มุมในการมองของตัวเอง ไม่ใช่แค่ไปรวบรวมมาเขียนว่าสิ่งนั้นคืออะไร มีเท่าไหร่ อะไรบ้าง เเบบรายงาน/สรุปข่าว แบบที่คนอื่นๆ ก็พูดกันอยู่เเล้ว 

....................

อันนี้เป็นบทความที่ผมเขียนไว้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว อยากชวนอ่านอีกครั้งครับ

วิธีวิจัยด้านศาสนา: กรณีศึกษาของพุทธในไทย อินโดนีเซียและญี่ปุ่น. วารสารมานุษยวิทยาศาสนา, 1(1): 77-104 (20). ดาวโหลด PDF จาก https://bit.ly/3rdO41c


เขียนโดย

เจษฎา บัวบาล (26 พฤศจิกายน 2567)

………….....

อ้างอิง

Bunnag, J. (1973). Buddhist monk, Buddhist layman: A study of urban monastic organization in central Thailand. Cambridge University Press.


Phra Peter, P. (2001). Little Angels: Life as a Novice Monk in Thailand. Bangkok, Post Book.


Andaya, B. W. (2002). Localising the universal: Women, motherhood and the appeal of early Theravāda Buddhism. Journal of Southeast Asian Studies, 33(1), 1-30.


Comments