บทความนี้เสนอว่า ศาสนาเป็นเพียงมุมหนึ่งของชีวิต ที่เราเลือกหยิบใช้และปล่อยปละละเลยได้โดยไม่ต้องใช้ตรรกะไปทุกเรื่อง นั่นเพราะศาสนาเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าเรื่องเหตุผลที่พิสูจน์ได้อย่างประจักษ์ และศาสนามักถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างอัตลักษณ์/การรวมกลุ่มสำหรับมนุษย์ที่ต้องการชุมชน
1. มนุษย์มีปัญญา สัตว์ไม่มีปัญญา?
มักอธิบายกันว่า เหตุที่มนุษย์มีศาสนาเพราะมีปัญญา มีความคิดที่ซับซ้อนกว่าสัตว์ สามารถจินตนาการได้ว่าโลกหลังความตายคืออะไร ใครคือผู้ควบคุมกฎที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวันของเรา ที่จริงการอธิบายแบบนี้ดูจะไม่ยุติธรรมต่อสัตว์ เพราะเราไม่ทราบว่าที่จริงพวกเขาคิดหรือเชื่อเรื่องแบบนี้ได้ด้วยไหม หรือที่จริงแล้วไม่ได้เกี่ยวกับระดับปัญญา
เพราะเอทิสต์จำนวนมากซึ่งฉลาด ก็ไม่ได้เชื่อพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็น นั่นเพราะแค่สิ่งที่เขาพิสูจน์ได้ด้วยตาก็ประจักษ์กับเขาอยู่แล้ว เช่น ญาติตายแล้วก็ไม่กลับมาอีก (ไม่ว่าจะมาในรูปแบบใด) ดังนั้นการที่สัตว์ไม่มีศาสนาอาจเพราะพวกเขาเข้าใจโลกหรืออธิบายตัวเองได้ เช่น ล่าเหยื่อไม่ได้ก็เพราะเหยื่อมีน้อยและต้องหาในที่อื่นๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปโค้งคำนับก้อนหินขอให้พระเจ้าประทานเนื้อมาให้
2. มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ศาสนาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างชุมชน
แต่ความเป็นสัตว์สังคมของมนุษย์ในระดับที่มาก มีภาษาใช้สื่อสารส่งต่อความรู้กันได้ง่าย พัฒนาเครื่องมือ/เทคโนโลยีขึ้นมาช่วยในการใช้ชีวิต ฯลฯ มีความอยากรู้จักสิ่งใหม่ๆ มนุษย์ได้สร้างกลุ่มทางสังคมออกมาอย่างหลากหลาย มีชมรมต่างๆ เช่น ดนตรี กีฬา/ออกกำลังกาย เดินป่า เล่าเรื่องผี หาคู่ อาสาช่วยสังคม ทัวร์ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือกระทั่งศึกษาศาสนาเป็นต้น
จริงๆ แล้วเราต้องการเพื่อนเพื่อจะพูดคุยสื่อสารกัน และรู้สึกอึดอัดเมื่อต้องอยู่คนเดียว (ยกเว้นคนบางกลุ่มซึ่งปัจจุบันอาจยังมีน้อย) ศาสนาเป็นชุมชนหนึ่งที่เป็นศูนย์รวมของคนที่เชื่อเหมือนๆ กัน ได้มารวมตัวกันจัดกิจกรรม ผลิตซ้ำคำสอนให้รับรู้ในแนวทางเดียวกัน เพื่อนชาวพม่าคนหนึ่งบอกว่า “ที่เราตื่นเช้ามาล้างหน้าพระพุทธรูปที่วัดเพราะมันเป็นกิจกรรมที่คนในชุมชนทำร่วมกัน ไม่ต้องถามว่าเราเชื่อเรื่องบุญกุศลไหม ทำในฐานะเป็น activity ไม่ใช่ religious belief แบบเดียวกับที่คนไทยไปวัดแล้วจุดธูป เราเชื่อจริงๆ หรอ ? ก็แค่ทำตามจารีตสังคม” เพราะหากไม่ทำ ก็จะไม่ปกติและต้องรับกับกระแสตีกลับให้ได้
3. ศาสนาในฐานะเครื่องมือของการปกครองและต่อต้าน
Emile Durkheim เรียกสิ่งนี้ว่าเป็น social solidarity หรือความเป็นปึกแผ่นของสังคม ซึ่งสำหรับ Max Weber แล้วอาจมีการสร้างศีลธรรมบางชุดมาอธิบายเพื่อรักษาสถานะของสังคมที่อาจไม่เสมอภาคได้ เช่น การอธิบายว่ากษัตริย์คือผู้มีบุญบารมีกลับชาติมาเกิด ดังนั้นคนอื่นๆ ภายใต้อำนาจเขาควรยอมศิโรราบ (legitimacy) หรือคนรวยก็ใช้โอกาสนั้นทำบุญมากๆ เพื่อรับบทเวสสันดรผู้ควรได้รับการเคารพ
ในทางตรงกันข้าม คนในชุมชนนั้นๆ อาจรวมตัวกันตีความคำสอนใหม่ เพื่อใช้ต่อสู้กับอำนาจผู้มีบารมีเดิมก็ได้ เช่น การเลือกโปรโมทชูชกแทนเวสสันดร ที่ศึกษาโดย Katherine Bowie ในหนังสือ Of beggars and Buddhas: The politics of humor in the Vessantara Jataka in Thailand แต่โดยสรุปคือ ศาสนาเป็นตัวยึดโยงผู้คนเข้าด้วยกัน
4. เราเชื่อศาสนากันจริงๆ .. หรือแค่มุมหนึ่งของชีวิต
ตัวอย่างของ อ.เบียร์ คนตื่นธรรม หลายคนคอมเม้นท์ว่า “การสอนของอาจารย์ทำให้พวกเขาใช้ชีวิตง่ายขึ้น ไม่ต้องหลงงมงายให้ใครหลอกอีกแล้ว” เช่น ไม่ต้องทำน้ำตกหน้าบ้าน เพราะน้ำไม่ได้เรียกทรัพย์ แต่เราต้องขยันทำงาน ไม่ต้องกลัวว่ามีเสาไฟฟ้าหน้าบ้านจะโชคร้ายไหม เพราะเราจะโชคดีมีไฟฟ้าใช้ ฯลฯ คำถามง่ายๆ เลยคือ ก่อนหน้านี้ 40 หรือ 50 ปี ของพวกเขา เขาไม่เคยทราบเลยหรอว่าหากอยากได้เงินต้องไปทำงาน ไม่ใช่ทำน้ำพุหน้าบ้าน?
อาจารย์เบียร์ไม่ได้มาพูดในสิ่งที่พวกเขาไม่เคยรู้ เพราะพวกเขารู้เรื่องนี้ดีอยู่แล้ว เขาแค่ถูกใจในคำสอนอาจารย์เบียร์เพราะมันตรงกับสิ่งที่เขาคิด ที่น่าสนใจคือ พวกเขาหลอกตัวเองว่าไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน เพื่อจะสมาทานตนเป็นสาวก โดยยกให้ อ.เบียร์เป็นอาจารย์/ศาสดา เพื่อสร้างชุมชนศาสนาที่มีผู้นำและผู้ตาม จริงๆ แล้วเขาก็เอาคำพูดนั้นๆ ที่เชื่อว่ามีเหตุผลมาอธิบายอัตลักษณ์ตัวเอง ว่าตนก็เป็นคนมีเหตุมีผล รู้ ตื่น เบิกบานแล้ว เป็นการเชื่อมตัวเองเข้ากับกลุ่มของสังคมนั้นๆ
อีกอย่างคือ ชีวิตคนมีหลายมิติ ธรรมะเป็นเพียงหนึ่งในอีกเป็นล้านเรื่อง ดังนั้นบางคนจึงไม่ได้เสพในฐานะเป็นความเชื่อ แต่เสพในฐานะความบันเทิง (entertainment) ได้ด้วย เช่นที่เขาทำคลิปโดยใช้เสียง อ.เบียร์กำลังสอนตัวเอง “มันดีไหมละ มีเสาไฟอยู่หน้าบ้าน มึงจะได้มีไฟฟ้าใช้ไง” แล้วก็ทำหน้าตลกแบบคนโดนด่า ถามว่าคนเหล่านี้เชื่อแบบนั้นจริงๆ ไหม .. ไม่จำเป็น พวกเขาแค่เกาะกระแส สร้างความบันเทิง เพิ่มรายได้ ทั้งที่ในบ้านเขาก็อาจจะยังมีศาลพระภูมิ หรือพยานาคพ่นน้ำดูดทรัพย์ หรือหากซื้อรถก็จะเอาไปเจิมเหมือนเดิมนั่นแหละ
ในแง่ของอารมณ์ความรู้สึก แม้การสร้างสิ่งใหญ่โตราคาแพง ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาเชื่อศาสนา เช่นในหนังเรื่อง “หลานม่า” เอ็มซื้อฮวงซุ้ยให้อาม่า เพราะเอ็มเชื่อหรอว่าอาม่าจะได้อยู่ในหลุมนั้นอย่างสบายตลอดไปหรือได้ไปสวรรค์ .. ไม่ทราบ.. แต่เขาทำให้เพราะความรัก อาม่าอยากได้สิ่งนั้น ถ้าพอจะทำให้ได้ก็ทำให้ นี่คืออารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์
มุสลิมและคริสต์หลายคนออกมาชื่นชมการสอนแบบอาจารย์เบียร์ ว่าไม่ให้คนงมงายและตรงกับหลักศาสนาของพวกเขา เช่น ไม่ต้องไหว้ผี/เทวดา แต่นั่นคือการจับประเด็นแบบผิวเผินมากๆ เพราะหากถามอาจารย์เบียร์ว่า ถ้าเราอยากสอบได้คะแนนดี เราควรตั้งใจอ่านสืออย่างเดียว หรือละหมาดขอให้พระเจ้าช่วยด้วย หากตอบตามหลักการพุทธ อ.เบียร์คงตอบว่า “พระเจ้าที่ไหนจะมาช่วยมึง คนจะพ้นทุกข์ได้เพราะความเพียร มึงโยนก้อนหินลงน้ำแล้วสวดมนต์ขอให้ก้อนหินลอยขึ้นมาได้ไหม” แน่นอนว่าขัดกับหลักศาสนาพวกเขา และพวกเขาจะไม่ชอบ อ.เบียร์อีก
เราจึงไม่ควรกลัวเมื่อเกิดศาสดา คนเผยแผ่ธรรม หรือลัทธิใหม่ๆ ขึ้นว่าเขาจะสอนผิดๆ หรือล้างสมองให้คนทั้งประเทศเชื่อแบบเขา เพราะสิ่งนั้นไม่เคยเกิดขึ้น และเกิดไม่ได้ด้วย เพราะมนุษย์มีความหลากหลาย มีความชอบที่ไม่เหมือนกัน เราไม่สามารถทำให้คนเชื่อสิ่งเดียวกันได้ ถ้าอ้างตามคัมภีร์พุทธ ก็มีลัทธิต่างๆ มากมายช่วงพุทธกาล และจะเป็นแบบนี้ตลอดไป
ธรรมกายจะเติบโตได้ระดับหนึ่งที่เหมาะกับความชอบสาวกเขา แบบเดียวกับที่สวนโมกข์ สันติอโศก ก็จะเติบโตได้แค่ระดับหนึ่ง ไม่ใช่ทุกคนจะเห็นด้วยกับพุทธทาส สิ่งที่น่ากลัวคือ การส่งเสริมให้ใช้อำนาจรัฐจัดการคนคิดต่างแล้วบังคับให้คนเชื่อแบบเดียวกันด้วยการจับสึก ปิดสำนัก ขังคุกคนตีความต่าง ฯลฯ การใช้อำนาจรัฐอาจเป็นวิธีเดียวที่ทำให้คนเชื่อแบบเดียวกันได้ (แต่คงไม่สำเร็จอยู่ดี เพราะจะมีความเชื่อใต้ดินกันต่อ) ดังนั้น หากกลัวเรื่องการล้างสมอง ก็แค่ปล่อยให้เจ้าสำนักต่างๆ สอนกันไป เถียงกันไป ความหลากหลายก็จะเกิด คนก็เลือกเสพเฉพาะในมุมที่ตนสนใจได้
เจษฎา บัวบาล
Comments
Post a Comment