โดย เจษฎา บัวบาล
(14 มีนาคม 2567)
บทความนี้วางอยู่บนประสบการณ์ที่ผมบวชอยู่ 18 ปี และช่วง 5 ปีหลังได้เข้าเรียน ป.โท ด้านสังคมวิทยามานุษยวิทยา ซึ่งพูดได้ว่า เหตุที่ผมสึก ไม่ใช่เพียงแค่หมดศรัทธาต่อศาสนาเท่านั้น (ผมไม่ได้มองว่าพระชั่ว แค่เห็นว่าศาสนาไม่จำเป็น) หากแต่ยังมองว่า ความเป็นพระเป็นอุปสรรคต่อการทำวิจัยด้านมานุษยวิทยาด้วย ในบทความนี้จะอธิบายประเด็นหลังนี้
ชีวิตพระมีทั้ง 2 แบบ คือที่มีภาระมากเช่นต้องบริหารหรือสอนในโรงเรียนประจำ แบบนี้ก็มักต้องอยู่กับที่ เเม้เดินทางท่องเที่ยวบ้างก็ได้ไม่กี่วัน ขณะที่พระอีกกลุ่มหนึ่งเลือกอิสระและไม่รับหน้าที่พวกนั้นเลย การเดินทางท่องเที่ยวไปจำพรรษาที่ละปีหรือสองปี ช่วยให้เขาได้เรียนรู้ชุมชนและประเพณีต่างๆ กว้างขึ้นด้วย
พระสายปริวาส คือพวกที่มักไม่มีที่อยู่ประจำ แต่ออกจากปริวาสวัดนี้ก็เดินทางไปวัดอื่น ซึ่งพวกเขาสร้างเครือข่ายจากการได้รู้จักกันตามที่ปริวาส/ปฏิบัติธรรมนั่นเอง ในการสนทนาก็มักจะเเนะนำกันว่า หากอยากปฏิบัติในป่า มีน้ำตก ให้ไปวัดนี้ หากอยากท่องจำปาฏิโมกข์ให้ไปวัดนั้น หรือหากจะอยากหันไปเรียนบาลี/นักธรรม/ป.ตรี ก็ให้ไปวัดนี้ ฯลฯ จริงๆ แล้ว ชีวิตพระป่ากับพระบ้านไม่ได้เเยกขาดจากกัน สลับกันใช้ชีวิตแต่ละช่วงได้
เพื่อนผมคนหนึ่งอายุ 50 ปี ชอบเดินทางปฏิบัติธรรม เขานิยามตัวเองว่าเป็นพวก “รุกข้อมูล” ซึ่งเป็นคำเลียนแบบคำว่า “รุกขมูล” ที่เป็นข้อปฏิบัติอันหนึ่งของธุดงค์ คือพักอาศัยตามโคนไม้แทนการอยู่กุฏิ เขาชอบชวนผมออกไปเดินดูหมู่บ้าน เเวะดูสระเลี้ยงปลา คอกเลี้ยงวัวของชาวบ้าน แล้วพูดคุยเรื่องสุขทุกข์ ถามถึงปัญหาการเลี้ยงปลา/ทำเกษตร ซึ่งพวกเราได้ข้อมูลเยอะจริงๆ แต่ที่สำคัญคือ พระรูปนี้ไม่ใช่นักวิชาการ ไม่เขียนงานอะไรออกมา และไม่ชอบสอนคนด้วย เขาแค่ไปคุยเพื่อหาความรู้
ถ้าไปบ้านเขา แม้จะถูกนิมนต์ให้นั่ง ก็จะถือแก้วกาเเฟเดินออกไปดูโน่นนี่ ถามชื่อต้นไม้ สังเกตสิ่งต่างๆ ซึ่งไม่ได้คุยธรรมะกันเลย ซึ่งชาวบ้านก็ไม่ได้เสื่อมศรัทธาพระรูปนี้ แถมยังสนิทกันมากขึ้นด้วย ผมได้วิธีเก็บข้อมูลจากพระรูปนี้มามาก .. ออ ตอนนี้เขาฆ่าตัวตายไปแล้ว และเชื่อว่าไม่ได้หนีปัญหาอะไร ผมสนิทกับเขามากและเห็นว่าเขามีความสุขดี
ถ้าเรานิยามนักมานุษยวิทยาว่า คนที่เอาตัวไปอยู่กับชุมชน ติดตาม/สังเกตกิจกรรมต่างๆ จนเข้าใจพลวัตของชุมชนนั้นๆ ดูเผินๆ พระก็น่าจะเป็นนักมานุษยวิทยาได้ แต่ปัญหาอยู่ตรงที่สถานะของพระสร้างช่องว่างในการเก็บข้อมูลครับ
เช่น ถ้าไปงานศพ พระจะถูกนิมนต์ให้ไปนั่งเเถวหน้า (กับประธานพิธี/เจ้าภาพ) แล้วนั่งพนมมือเวลาพระอื่นๆ สวด นั่นหมายความว่า เราไม่รู้ว่าช่วงเวลานั้นในโรงครัวเกิดอะไรขึ้น และด้วยสถานะพระ ถ้าจะอดนอนมานั่งเฝ้าศพกับเจ้าภาพ (เพื่อชวนเขาโม้ เก็บข้อมูล) เขาก็จะรู้สึกว่าถูกจับจ้อง ละอาจไม่ทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น เล่นไพ่/ดื่มเหล้า ฯลฯ ข้อมูลหลายอย่างจึงถูกปกปิดไว้ เเต่ถ้าเป็นฆราวาสและอยู่กับเขาตลอดงาน ก็จะเห็นกิจกรรมได้หลากหลายกว่า
ปี 2015 ผมลงพื้นที่วิจัยเรื่องพุทธในอินโดราว 5 เดือน ในฐานะพระ ได้รับทราบข้อมูลเรื่องพระและกิจวัตรอย่างละเอียด รู้ว่าพระแต่ละรูปได้เงินราวเดือนละเท่าไหร่ ใครส่งเงินให้ที่บ้านบ้าง เขาสร้างเครือข่ายอย่างไรจึงได้มาต่างประเทศ ฯลฯ แต่ได้ข้อมูลเชิงลึกน้อยมากจากฆราวาสทั้งชายและหญิง การมารอสัมภาษณ์เขาในวัด ที่ไม่ให้อยู่กันสองต่อสองมีผลอย่างมาก ไม่ใช่เเค่เรื่องพระกับผู้หญิง แม้กับผู้ชาย หากอยู่ด้วยกันหลายคนเขาก็ไม่อยากพูดบางอย่างให้คนอื่นได้ยิน
เมื่อผมสึกออกไป ทำวิจัยอีกครั้งในปี 2020-23 ใช้ชีวิตส่วนใหญ่กับชาวบ้าน ได้ข้อมูลในมุมของเขา ซึ่งอาจวิจารณ์พระ/ศาสนาด้วย ซึ่งข้อมูลพวกนี้ไม่มาจากการสัมภาษณ์ แต่เขาจะพูดเมื่อรดน้ำผักหรือซ้อนมอเตอร์ไซด์ไปเที่ยว เราจะเห็นความหลากหลายของกลุ่มฆราวาส และการที่เขาต่อรองกับวัดเพื่อจะไม่ทำตามบางอย่าง เช่น ไม่อยากใส่ชุดขาว ไม่อยากหาเงินมาทอดกฐิน ฯลฯ
จริงๆ แล้ว ความเป็นฆราวาส (ผู้ชาย) ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงพระในวัด ส่วนหนึ่งอาจเพราะเราเป็นพระมาก่อน เลยคุยธรรมะในระดับเดียวกับเขาได้และเข้าใจชีวิตพระระดับหนึ่งด้วย เคยนั่งรถไปกับหลวงพ่อ จจ. ตอนกลางคืน ผมถามท่านเบาๆ ว่า “จะเอาข้าวผัดไหมครับ” ท่านก็พะยักหน้ารับ และมีหลวงพ่ออีกรูป ผมซื้อข้าวใส่ในย่ามให้ เมื่อไปถึงวัด ท่านโทรมาถามว่า “โยมใส่ข้าวไว้ในย่ามอาตมาไหม” (ท่านคิดว่าใส่ผิดย่าม) เมื่อผมตอบว่า “ตั้งใจซื้อให้หลวงพ่อคับ” ท่านก็บอกว่า “ขอบคุณมากๆ นะ หิวพอดีเลย”
นั่นไม่ใช่การลองใจนะครับ แต่อยากซื้อให้จริงๆ และไม่ได้เสียหายอะไร หากเขาไม่ต้องการก็เอาไปให้หมาเเมวได้ แต่ส่วนหนึ่งที่ไม่มีปัญหา เพราะผมเป็นพระมานาน คือเขาไม่ได้มองว่าผมเป็นฆราวาสที่ผู้ไม่รู้เรื่องลึกๆ ของพระ เขาจึงไม่ต้องต้องสร้างอัตลักษณ์ผู้ทรงศีลมาแสดงเมื่อต้องปฏิสัมพันธ์กับผม (ในที่ส่วนตัว) นั่นหมายความว่า เมื่อสนิทกันมาก เราก็สอบถาม/ติดตามการใช้ชีวิตของเขาได้แทบทุกเรื่องหรือตลอดเวลาเลย
ถ้าจะสวมวิญญาณพระเพื่อนที่พาไปดูคอกวัว ก็อาจเข้าถึงข้อมูลจากฆราวาสได้อยู่ แต่คงต้องใช้เวลานานขึ้นเมื่อเทียบกับฆราวาส ซึ่งการรู้ข้อมูลในพื้นที่/ชีวิตคนเชิงลึกนี้สำคัญมาก ตัวอย่างงานที่ลึกกว่าข้อมูลในหนังสือ เช่น มีการเเชร์โพสต์คุณสมบัติในการเลื่อนสมณศักดิ์ของพระ ว่าต้องหาเงินในการก่อสร้างเท่าไหร่จึงจะได้เลื่อนยศขั้นนั้นๆ ชาวพุทธที่ไม่เคยทราบข้อมูลมาก่อนอาจตื่นตาตื่นใจ แต่นั่นเป็นข้อมูลพื้นฐานมากๆ หาอ่านได้จากหนังสือตามวัดทั่วไป
สิ่งที่นักวิจัยควรทราบให้มากกว่านั้นคือ พระที่หาเงินได้ตามจำนวนนั้นๆ ได้เลื่อนขั้นหมดเลยหรือ? ในความเป็นจริงคือ “ไม่ใช่ครับ” เพราะขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ส่วนตัวผ่านสายอุปัชฌาย์เป็นต้นด้วย ซึ่งการจะรู้ข้อมูลลึกๆ ว่าอะไรกันเเน่คือเงื่อนไขหรือตัวเเปรที่ทำให้ได้เลื่อนขั้น จึงต้องใช้ข้อมูลเชิงลึกและวิธีลงพื้นที่ที่อยู่กับเขานานจนเห็นความเป็นไปของสังคม/อำนาจนั้น จึงจะช่วยตอบคำถามนั้นได้
สรุปคือ สถานะพระก็พอทำวิจัยด้านมานุษยวิทยาได้อยู่ โดยเฉพาะการศึกษาเรื่องราวของพระเณร แต่หากจะให้มีมุมฆราวาสอยู่ในงาน “ซึ่งควรมีเพราะพระต้องพึ่งพาฆราวาส” การเข้าถึงข้อมูลพวกนั้นก็จะยากขึ้นแล้ว แน่นอนว่าฆราวาสอาจยินดีให้สัมภาษณ์ แต่เขามีวิถีชีวิต/เรื่องราวบางอย่างที่เล่าไม่ได้ ต้องอาศัยความสนิทสนมที่ได้อยู่ร่วมกัน นักวิจัยในสถานะของฆราวาส (ผู้ชาย) จึงเอื้อกับการเข้าหาทั้งพระและฆราวาสมากกว่า
ภาพจาก https://www.pexels.com/
Comments
Post a Comment