จาก “ร่างทรง” ถึง “เหมรฺย” : เมื่อชีวิตจริง เราเป็นได้เเค่ทางผ่าน
เจษฎา บัวบาล (4 กุมภาพันธ์ 2567)
ร่างทรง โดยศัพท์ก็ชัดอยู่ว่า เป็นร่างเพื่อให้วิญญาณอื่นเข้ามาใช้สอย ในช่วงเวลานั้นเราอาจควบคุมตัวเองไม่ได้ ในแง่หนึ่งเราก็มีฤทธิ์อำนาจมากขึ้น ช่วยเหลือคนได้มากขึ้น แต่มันดีจริงหรือถ้าความสามารถนั้นทำในนามคนอื่น โดยที่จิตวิญญาณของเราถูกกดให้ต่ำลง แล้วใช้เพียงร่างกายเพื่อให้เป็นทางผ่าน ยังไม่ต้องพูดถึงกรณีที่วิญญาณที่มาอาศัยนั้นชั่วร้าย
ร่างทรง ฉายในปี 2564 และ เหมรฺย ฉายในปี 2567 ทั้งสองเป็นหนังที่บอกเล่าถึงความเชื่อท้องถิ่นของคนอีสานและคนใต้ ความเหมือนกันของร่างทรง (Medium) และราชครูโนรา (Nora master) คือการสืบทอดผ่านสายตระกูลหรือถูกเลือก (อย่างปฏิเสธไม่ได้) เพราะหากปฏิเสธ ก็มักจะตามมาด้วยความโชคร้ายหรือหายนะต่างๆ ดังที่ มิ้ง (ร่างทรง) และออกัส (เหมรฺย) ต้องทุกข์ทรมานจากสิ่งเหนือธรรมชาติเหล่านั้น
ลูกเป็นเเค่เครื่องมือของพ่อแม่/ตระกูล
ออกัสเป็นลูกที่เกิดจากการที่พ่อได้บน (เหมรฺย) ต่อครูหมอโนรา โดยให้สัญญาไว้ว่า หากได้ลูกชาย จะพาเขามาตัดจุกและเป็นโนราใหญ่ สิ่งนี้ตามมาด้วยการที่เขาต้องเข้มงวดกับลูก เช่น ไม่ให้มี sex ก่อนอายุ 15 ตามแบบของคนที่จะเป็นโนราใหญ่ พูดง่ายๆ คือ ออกัสไม่ได้เป็นเจ้าชีวิตของตัวเอง แต่อนาคตของเขาถูกพ่อเลือกให้เเล้วว่าจะต้องเป็นโนรา แม้แต่การที่เขามาเกิด พ่อก็เชื่อว่าเพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ส่งมาให้
เช่นเดียวกับชีวิตเด็กจำนวนมาก ที่พ่อเเม่เลือกเพื่อนเล่น/ของเล่นในตอนเด็กให้ เลือกเพศสภาพที่ควรจะเป็น เลือกคณะที่จะเรียนและหน้าที่การงานให้ ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าพ่อแม่เป็นเจ้าของชีวิตลูก ลูกจึงเป็นเหมือนร่างทรงของพ่อแม่ที่เลือกอะไรด้วยตัวเองไม่ได้ ความเชื่อเรื่องเจ้าของชีวิต คล้ายกับ monotheism หรือพระเจ้าเป็นเจ้าของทุกอย่าง จึงมีอำนาจควบคุมและจัดสรรอะไรให้ก็ได้
เช่นเดียวกับหนังเรื่องร่างทรง ป้าน้อยคือผู้ถูกเลือกให้รับหน้าที่ร่างทรง แต่แกปฏิเสธด้วยการไปเข้าศาสนาคริสต์ ป้านิ่มจึงทำหน้าที่นั้นเรื่อยมา แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง ก็ดูเหมือนว่าย่าบาหยันจะเลือกมิ้ง (ลูกของป้าน้อย) แต่ไม่ว่าวิญญาณที่สิงมิ้งจะเป็นย่าบาหยันหรือไม่ ชีวิตเธอก็หมดอิสรภาพลงแล้ว มีอาการเจ็บป่วย อารมณ์ฉุนเฉียว ไม่เป็นตัวของตัวเอง ฯลฯ มิ้งไม่ได้ถูกพ่อแม่ใช้อำนาจบังคับโดยตรงแบบพ่อของออกัส แต่เธอต้องเสียอิสรภาพเพียงเพราะเป็นสายเลือดหรือเกิดมาในตระกูลร่างทรงนี้
“การบนบาน” เป็นวิธีหนึ่งที่คนเลือกใช้ในยามคับขัน และยังสามารถบนแทนกันได้ด้วย ซึ่งความปรารถนาดีนี้สร้างความลำบากใจให้กับคนจำนวนมาก เช่น เมื่อลูกเจ็บป่วย เเม่ก็บนว่า หากเขาหายป่วย เขาจะบวชให้ 1 พรรษา โดยที่ลูกไม่ได้อยากบวชหรือไม่แม้เเต่จะเห็นด้วยกับการบนอันนั้น แต่ก็ปฏิเสธยาก เพราะมิฉะนั้นแม่ก็ไม่สบายใจที่ยังไม่ได้เเก้บนตามที่กล่าวไว้ และกลัวว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะตามมาเอาคืนเเบบหนังเรื่อง เหมรฺย
ชีวิตมีค่าหรือ หากเกิดมาชดใช้กรรม?
นอกจากชีวิตเราจะเป็นเครื่องมือของพ่อแม่แล้ว เรายังเป็นตัวละครให้กฎแห่งกรรมได้เเสดงด้วย หนังผีไทยมีจุดเด่นอยู่ตรงที่สะท้อนเรื่องกฎแห่งกรรมไปด้วย ซึ่งแม้จะไม่สมน้ำสมเนื้อ แต่การต้องชดใช้ในสิ่งที่ตนทำช่วยโน้มน้าวคนดูให้คล้อยตามได้ว่า “มันก็สมควรอยู่นะที่จะโดนแบบนี้” พูดง่ายๆ คือ กฎแห่งกรรมเป็นสัญลักษณ์ของเหตุผลแบบพุทธและทำให้การใช้ความรุนเเรง/บังคับกดขี่นั้นดูชอบธรรมขึ้น
การนำเสนอเรื่องกรรมมีปัญหาตรงที่ทำให้มองว่าคนนั้นดี คนนี้ชั่วแบบชัดเจน แทนที่จะมองโครงสร้างของครอบครัวหรือสังคม เช่น กรณีของ ทับ (ออกัสเมื่อชาติที่แล้ว) เขาวางยาฆ่าเด็กรำโนราและฆ่าพี่ชายตัวเอง ชาตินี้เลยต้องประสบอุบัติเหตุสาหัส ถ้าดูบริบท ทับไม่ได้ชั่วร้ายขนาดนั้น เเต่เพราะเขาถูกเด็กรำโนราเหยียดหยาม เขาถูกพ่อเลือกปฏิบัติคือสอนโนราให้พี่ชายและรักพี่ชายมากกว่า และยังใช้ความรุนเเรงกักขัง ทุบตี จนเขาพูดหลายครั้งว่า “ทับเกลียดพ่อ ทับเกลียดพี่ทิว ทับเกลียดโนรา”
ในครอบครัวนั้น เขาเป็นคนเดียวที่ต้องมารับกรรมด้วยอุบัติเหตุที่รุนเเรง โดยไม่เห็นว่าคนอื่นๆ ต้องชดใช้กรรมอะไรบ้าง ในฐานะที่ทำให้ทับต้องตัดสินใจทำแบบนั้น เอาเข้าจริง ตั้งเเต่ชาติที่เเล้ว ทับก็เป็นเเค่เครื่องมือของพ่อแม่ ผู้เติบโตมาในสังคมที่เต็มไปด้วยอำนาจในการเลือกปฏิบัติและการบูลลี่จากคนรอบข้าง
ทุกข์เพราะโดนของหรือกฎแห่งกรรม?
ทั้งสองเรื่องทำให้เห็นแบบก้ำกึ่งว่า หายนะที่มาสู่ครอบครัวเป็นเพราะโดนทำของใส่ หรือเพราะกฎแห่งกรรมกันเเน่ ผู้กำกับหยิบใช้การ “เล่นของ” และการต้อง “แก้บน” มาเป็นเหตุของหายนะอย่างโจ่งเเจ้ง กรณีของตระกูลยะสันเทียะในเรื่องร่างทรงก็ถูกทำของใส่ กรณีของออกัสก็เพราะพ่อไปบนไว้ แต่หนังก็เหมือนจะสื่ออีกนัยว่า หรือหายนะนั้นเป็นเพราะเขาชดใช้กรรมมากกว่า?
เช่น ครอบครัวยะสันเทียะเคยเป็นเพชฌฆาตประหารคน เคยทำร้ายคนในโรงงานเก่า และปัจจุบันก็ขายเนื้อหมา (ฆ่าหมา) และมิ้งอาจเคยทำแท้ง เมื่อเธอถูกผีเข้าก็จะทำตัวเหมือนหมาเดินสี่ขาและทำตัวเป็นเด็ก ส่วนออกัสก็เป็นการกลับชาติมาเกิดของทับ ผู้ซึ่งเคยวางยาฆ่าเด็กฝึกรำมโนรา ฆ่าพี่ชายและได้ฆ่าตัวตาย วิบากกรรมนั้นทำให้ออกัสต้องเจ็บป่วยและประสบอุบัติเหตุในชาตินี้
ขณะที่อลิส (แม่ของออกัส) ก็ต้องทุกข์ทรมานจากการเห็นลูกเจ็บปวด เพราะเธอเคยขับรถชนคนแล้วหนี แม้จะมีเสียงร้องขอความช่วยเหลือก็ตาม กรณีเธอได้ถูกแม่ของเด็กที่เสียชีวิตจากการโดนรถชนทำเหมรยสาบเเช่งไว้ ว่าให้มีชีวิตอยู่นานพอที่จะเห็นลูกตัวเองทุกข์ทรมาน การต้อง balance ระหว่างการเล่นของและกฎแห่งกรรมจึงเป็นจุดเด่นอีกอันของหนังสองเรื่องนี้
ศาสนาช่วยไม่ได้เลยหรือ?
ป้าน้อยในเรื่องร่างทรง ถึงกับย้ายไปนับถือศาสนาคริสต์ ด้วยความหวังว่าจะพ้นไปจากการสืบทอดความเป็นร่างทรงของย่าบาหยัน แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้น ที่จริงศาสนาคริสต์ช่วยลดปัญหาเรื่องปอบหรือผีกะในชนบทลงได้มาก คือเมื่อคนหันมาเชื่อว่าพระเจ้ามีอำนาจสูงสุด (เป็นหัวหน้าผี) ผีอื่นๆ ก็จะต่ำลงและแก้ไขได้ง่ายขึ้น แต่ประเด็นคือ ศาสนาไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียว เพราะเรายังอยู่ในสังคม/ญาติมิตรเดิมๆ อาชีพเดิมๆ และอยู่ภายใต้ความเชื่อเดิมๆ
พระสงฆ์ในพุทธศาสนาในเรื่องเหมรฺย ถูกกลืนเข้ากับความเชื่อท้องถิ่นจนเป็นเนื้อเดียวกัน ในพิธีใหญ่เช่นตัดจุกครอบเทริดก็มักจะนิมนต์พระมาสวดให้พรด้วย ที่มากกว่านั้นคือ คนที่จะเป็นโนราใหญ่ (สามารถทำพิธีแก้บน/เหมรฺย) ต้องผ่านการอุปสมบทเป็นพระ เพราะเชื่อว่าจะเป็นคนสมบูรณ์แบบ พิธีกรรมก็มักเริ่มด้วยการบูชาพระรัตนตรัย คาถาตัดเหมรฺยก็ตัดต่อเอาจากภาษาบาลี เช่น คำลาสิกขาของพระ น่าจะหมายถึง ตั้งแต่บัดนี้ให้รู้ไว้ว่า สถานะนั้นได้ขาด/ยุติไปแล้ว
ทั้งคนทรงและครูหมอโนรา อาจเป็นตัวอย่างของชาวพุทธที่ดีมีศีลธรรมไปด้วย และในการแสดง/รักษาโรคก็อาจสอนศีลธรรมไปด้วย เช่น ให้ของขลังไปแบบมีเงื่อนไขทางจริยธรรม ว่า น้ำมนต์นี้จะศักดิ์สิทธิ์หากเธอไม่พูดเท็จและไม่คบชู้ นั่นคือการรับเอาอิทธิพลและอ้างความชอบธรรมจากศาสนาไปด้วย ในภาคใต้ ครูหมอพวกนี้สามารถดูดวงหรือฤกษ์ยามได้ ในบางงาน เช่น ขึ้นบ้านใหม่ อาจเชิญหมอมาทำพิธีและนิมนต์พระมาสวดด้วย กล่าวได้ว่าทั้งความเชื่อท้องถิ่นและศาสนาที่เข้ามาใหม่ดูเหมือนจะร่วมมือกันทำงาน
ปิดท้าย
ในชีวิตจริง หลายคนต้องเป็นร่างทรงให้กับความต้องการของพ่อแม่ จะใช้ศาสนามาช่วยก็ยาก นอกจากจะยึดเอาศาสนาในแบบเคร่งจริงๆ แต่ถึงแม้จะพ้นไปจากร่างทรงของพ่อแม่ ก็ไปติดกับดัดกรรมเก่าหรือบททดสอบของพระเจ้าอยู่ดี หนังพวกนี้คงไม่ได้ตั้งใจการโปรโมทวัฒนธรรมท้องถิ่น เพราะการมาในรูปของหนังสยองขวัญยิ่งทำให้คนหวาดกลัวคนทรงและโนราจนไม่อยากยุ่งเกี่ยวหรือศึกษาฝึกซ้อมด้วย
แต่หนังสะท้อนให้เห็นว่า การเกิดมาในสังคมที่เต็มไปด้วยสิ่งเร้นลับและพ่อแม่ที่เอาเเต่ใจ เด็กต้องเผชิญกับความลำบากอะไรบ้าง น่าตั้งข้อสังเกตว่า หนังประเภทคนเล่นของหรือกฎแห่งกรรม ดูจะไปกันได้ดีกับประเทศที่ไม่มีประชาธิปไตย คือประชาชนไม่มีสิทธิเลือก/กำหนดชีวิตของตนเอง แต่เป็นอำนาจเร้นลับที่ต่อรองยาก หรือถ้าทำดี/ขยันมาตลอดแล้วยังตกทุกข์/ยากจน ก็ให้ระลึกไว้ว่า อาจเป็นผลกรรมเก่าที่ติดตามมาจากชาติที่แล้วแบบชีวิตของ ออกัส ไง
ภาพจาก mgronline.com
Comments
Post a Comment