หลวงพี่นี้ใส่ส้นสูง : ว่าด้วยการตีความพุทธศาสนาเพื่อความหลากหลายทางเพศ

หลวงพี่นี้ใส่ส้นสูง : ว่าด้วยการตีความพุทธศาสนาเพื่อความหลากหลายทางเพศ (ปริทัศน์หนังสือ This Monk Wears Heels : Be Who You Are เขียนโดย Kodo Nishimura (2022) สำนักพิมพ์ Watkins (London) 253 หน้า)

เกริ่นนำ

พุทธเถรวาทมักโยงทุกเรื่องให้เป็นกฎแห่งกรรม นำไปสู่การกีดกันและสร้างตราบาปให้กับชาว LGBTQ+ เช่นในวิธีคิดเเบบพุทธไทยที่ว่า กะเทยเกิดจากกรรมที่เคยผิดศีลข้อสามในอดีตชาติ แม้พระไทยบางวัดจะยอมรับให้กะเทยเป็นต้นเข้ามาบวช แต่ต้องปกปิดพฤติกรรมนั้น ซึ่งนิกายสุขาวดี (มหายาน) ของ Kodo มองว่า การที่พระ (และทุกคน) เป็นในแบบตัวเองและซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตัวเองเป็นสิ่งสวยงาม ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย และไม่ต้องปกปิด


พุทธมหายานไม่เพียงแต่มีนิกายที่หลากหลายกว่าเถรวาท แต่มหายานมักอยู่ในประเทศที่ไม่ใช่รัฐศาสนา ซึ่งมีข้อดีตรงที่แต่ละองค์กรสามารถตีความคำสอนเพื่อตอบสนองคนในแบบที่หลากหลายได้โดยไม่ต้องถูกสำนักพุทธฯ จับสึก หลวงพี่ Kodo เปิดเผยต่อสาธารณะว่าเป็น Homosexual หนังสือเล่มนี้ได้บอกเล่าเรื่องราวของเธอ การค้นหาตัวเอง การใช้ชีวิตในสังคม และการเอาคำสอนในพุทธศาสนามาใช้เพื่อให้คนยอมรับความหลากหลายและภูมิใจที่จะเป็นในแบบตัวเอง


หนังสือเล่มนี้จัดอยู่ในประเภท Self-Help / LGBTQ+ ใช้ภาษาพูดที่อ่านง่าย เหมือนเป็นอัตชีวประวัติของพระรูปหนึ่งในนิกายสุขาวดี (Jodo Shu) แต่ความน่าทึ่งของเล่มนี้คือ มุมมองการตีความศาสนาที่สอดรับกับความหลากหลายของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านเพศสภาพ


ชีวิต ครอบครัวและการเดินทาง

พ่อของ Kodo เกิดในครอบครัวเกษตรกร ได้มีโอกาสมาอยู่วัดของญาติในเมืองโตเกียว และได้เรียนจบ ป.เอกด้านพุทธศาสนา แน่นอนว่า นอกจากจะเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแล้้ว เขายังเป็นพระด้วย เช่นเดียวกับแม่ของ Kodo ซึ่งก็เป็นพระ คือผ่านการอบรม/สอบ/ได้รับในประกาศนียบัตร ความโชคดีอย่างหนึ่งของ Kodo คือ เกิดในครอบครัวที่ฐานะดี พร้อมจะส่งเรียนต่างประเทศ และไม่บังคับให้ลูกต้องบวชแบบตัวเอง


ทั้งนี้ Kodo ดูจะเข้ากับครูและนักเรียนไม่ค่อยได้ มักถูกล้อเลียนเรื่องเพศสภาพในโรงเรียนประถม/มัธยม ในญี่ปุ่นขณะนั้น (ราว 15 ปีที่แล้ว) ชีวิตนักเรียนก็เต็มไปด้วยการบูลลี่เช่นเรื่องเพศสภาพ โชคดีที่ยังมี Gay Chat Room ให้สนทนากับเพื่อนที่มีทัศนคติคล้ายๆ กัน แม้จะไม่ได้พบเจอกันจริงๆ ก็ตาม (p.87) เธอตั้งใจเลยว่าจะไปเรียนต่างประเทศและมีเเรงบันดาลใจอย่างมากในการเรียนภาษาอังกฤษ (p. 11)


เมื่ออายุ 20 เธอจบจากสถาบันภาษาของ Boston ในเมืองนี้เธอมีโอกาสได้ไปโบสถ์ที่มีกลุ่ม LGBTQ+ และได้ฟังเรื่องราวของสมาชิกจากประเทศต่างๆ จนได้พบว่า ในหลายๆ ที่ สถานภาพของ LGBTQ+ ในตะวันตกก็แย่มากเหมือนกัน ไม่ใช่เฉพาะเเต่ในญี่ปุ่นแบบที่เข้าใจ เราอาจสันนิษฐานได้ว่า อย่างน้อยเธอได้มีโอกาสพบเห็นศาสนสถานที่เปิดรับความหลากหลาย ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เธออยากทำสิ่งนี้ผ่านพุทธศาสนาบ้างเหมือนกัน


เธอได้เข้าศึกษาต่อที่ Parsons School of Design ที่ New York เมื่อเรียนจบ เธอตัดสินใจกลับไปญี่ปุ่นเพื่อเข้าอบรมเเละบวชเป็นพระ ซึ่งสถานะความเป็นพระและเปิดเผยตัวเองว่าสนับสนุน LGBTQ+ ไปด้วยสร้างชื่อเสียงให้เธออย่างมาก เธอกลายเป็นคนดัง ที่ถูกเชิญไปออกรายการทีวี สัมภาษณ์ลงหนังสือพิมพ์ นิตยสาร บรรยายตามมหาวิทยาลัยหรือกระทั่งพูดตาม TEDx Talks และ UN (p. 12)


Kodo เชื่อว่าการได้ใช้ชีวิต/ท่องเที่ยวในต่างประเทศส่งผลอย่างมากต่อชีวิตของเธอ มันเปิดโอกาสให้ได้พบปะผู้คนที่หลากหลาย ทำให้เธอเข้าใจคนที่วิจารณ์เธอมากขึ้นด้วย เช่น บางคนวิจารณ์เพศสภาพของเธอ บ้างก็โยงไปถึงความเป็นพระ ว่าเธอไม่เข้าใจพุทธศาสนา (ถ้าเข้าใจจะเป็นพระที่ดีคือเป็นชายเเท้) เธอตระหนักว่า คนเหล่านั้นพูดจากฐานของการไม่ได้เรียนรู้วัฒนธรรมอื่น (pp.39 and 128)


เธอยกตัวอย่างของสิทธัตถะผู้ไม่ได้บรรลุธรรมเพราะอยู่แต่ในบ้าน หากแต่ต้องออกเดินทางไปเรียนรู้โลกข้างนอก และที่สำคัญคือ ท่านค้นพบธรรมด้วยวิธีของตัวเอง ไม่ใช่การทำตามคนอื่น (p.120) เมื่ออายุ 24 ปี Kodo ได้เป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องปกปิดอีกต่อไป และเธอมองว่านั่นคืออิสรภาพ (p.104)


แม้แต่การเรียนเเต่งหน้าก็ช่วยให้เธอได้เรียนรู้ที่จะรักตัวเองมากขึ้น เช่นเมื่อเธอทดลองเเต่งหน้า/ขอบตาในแบบต่างๆ ถึงจุดหนึ่งเธอพบว่าดวงตาของเธอในแบบนั้นช่างสวยมากๆ และมันส่งผลให้เธอรักดวงตาของตัวเองแม้ในช่วงเวลาที่ไม่เเต่งก็ตาม นั่นคือรวมไปถึงการเพิ่มความมั่นในด้านอื่นๆ และกล้าที่จะเป็นตัวเองและเเสดงออกอย่างมั่นใจด้วย (p.66)


การตีความศาสนาเพื่อรับความหลากหลายทางเพศ

Kodo เป็นพระและทำอาชีพช่างเเต่งหน้าไปด้วย บ่อยครั้งถูกวิจารณ์ในโซเชี่ยลมีเดียว่าเป็นพระปลอมหรือทำตนไม่เหมาะสม ซึ่งเธอยืนยันว่า เธอเป็นพระจริง ผ่านการฝึกอบรม ผ่านการสอบ และได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้องด้วย เธอนิยามความเป็นพระว่า “เป็นคนคนหนึ่งซึ่งพยายามแบ่งปันคำสอนทางพุทธศาสนาแก่ผู้อื่น เช่นเดียวกับครู/อาจารย์ที่ไม่จำเป็นต้อง perfect หรือเก่งทุกวิชา และที่สำคัญคือ เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า พระรูปไหน perfect รูปไหนไม่ perfect” (p.25)


นิกายสุขาวดี (Pure Land) ของ Kodo ถูกตั้งขึ้นโดย Honen ในคริสตศตวรรษที่ 12 โดยมีเเก่นคำสอนว่า ทุกสรรพสัตว์สามารถพ้นทุกข์ได้ (all can be liberated) ซึ่ง Kodo บอกว่าเหตุผลที่เธอชอบนิกายนี้เพราะมีคำสอนที่เป็น inclusive และไม่เลือกปฏิบัติ แต่ทั้งนี้เธอก็ยืนยันว่า เธอเป็นพวก spiritual มากกว่า religious คือเลือกที่จะศึกษาคำสอนและเฟ้นเอาเฉพาะอันที่มีเหตุมีผลมากกว่าจะเชื่อในทุกส่วน และดูเป้าหมายของคำสอนมากกว่าจะดูตัวอย่างที่คัมภีร์จัดสรรมาให้ (pp.26-27) สำหรับเธอแล้ว พุทธศาสนามีส่วนช่วยให้เธอกล้าที่จะเป็นตัวของตัวเอง และดีใจที่ศาสนาประเภทนี้โอบรับคนที่หลากหลายไว้


Kodo ตีความความและนำเสนอคำสอนพุทธอย่างน่าสนใจ เช่น มรรคแปด ข้อสัมมาทิฏฐิ (right views) หมายถึงการเข้าใจสิ่งทั้งหลายในแบบที่มันเป็นโดยไม่ตัดสิน ในขณะที่พุทธเถรวาทอธิบายแบบรวมๆ ว่าเป็นการเข้าใจทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การพ้นทุกข์ และวิธีปฏิบัติเพื่อให้พ้นทุกข์ ซึ่งการตีความของ Kodo ไม่ได้ผิดในเชิง concept แต่ยิ่งชัดขึ้น พูดง่ายๆ คือ มองว่าความทุกข์เพราะเพศสภาพ/ชาติพันธุ์/สีผิวเป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้น ไม่ได้ทุกข์โดยตัวมันเอง และหากสังคมเข้าใจความหลากหลายอันนี้ก็จะไม่ตัดสินและตีตราผู้อื่นให้ต้องทุกข์ (pp.105-106)


สัมมาอาชีวะหรือการเลี้ยงชีพในทางที่ถูกต้อง Kodo มองว่าเป็นการประกอบอาชีพที่ไม่เบียดเบียนใคร ที่ยิ่งกว่านั้นคือ ต้องมีความกล้าหาญที่จะปฏิเสธหรือลงมือทำเพื่อช่วยให้สังคมดีขึ้น เช่นเธอเองเริ่มที่จะเเบ่งปันคำสอนประเภทนี้แก่ผู้อื่น ลุกขึ้นพูดเพื่อความความเท่าเทียมเรื่องสิทธิ และเเต่งหน้าให้ตนเองและผู้อื่น ซึ่งการเลี้ยงชีพแบบนั้นทำให้เธอมีความสุขมากขึ้นด้วย (p.109)


การอบรมเป็นพระของ Kodo เกิดขึ้นที่วัด Konkai-Komyoji และวัด Zojoji เมืองโตเกียว ใช้เวลาถึง 2 ปี ครั้งละ 2-3 สัปดาห์ เป็นเวลา 5 ครั้ง มีทั้งการฝึกทำพิธีกรรม ทำสมาธิ สวดมนต์และเรียนรู้คำสอนพร้อมทั้งประวัติศาสตร์พุทธศาสนา Kodo ได้เรียนรู้วินัยของพระ เช่น ไม่ใช้ของหอม ไม่ตกแต่งร่างกาย ฯลฯ ซึ่งเธอมีคำถามในใจว่า หากเป็นเช่นนี้แล้ว เธอจะเป็นพระได้อย่างไร เพราะอาชีพเธอคือ ช่างแต่งหน้าและแฟชั่น หรือในพิธีกรรม เมื่อเข้าไปในศาลา ผู้ชายก้าวเท้าซ้าย ผู้หญิงเท้าขวา แล้วคนที่ไม่ระบุว่าตนต้องเป็นชายหรือหญิงจะทำอย่างไร (pp. 146-149)


อาจารย์ผู้อบรมตอบเธอว่า พิธีกรรมเป็นสิ่งที่พัฒนาขึ้นทีหลัง ดังนั้นให้กลับไปเน้นที่คำสอนดั้งเดิมของเรา อาจารย์ Honen สอนว่า “ทุกคนสามารถบรรลุธรรมได้อย่างเท่าเทียมกัน” ดังนั้น ก้าวเท้าซ้ายหรือขวาไม่ใช่ประเด็นสำคัญ (p.150) และได้ตอบประเด็นการเป็น LGBTQ+ และการต้องทำอาชีพที่ขัดกับศีลไว้ว่า


“ในญี่ปุ่น พระมีอาชีพที่หลากหลาย บางคนเป็นหมอ หลายคนเป็นครู พวกเขามีเสื้อผ้าเฉพาะของตัวเอง ไม่ได้ห่มจีวรตลอดเวลา อะไรคือความต่างระหว่างใส่นาฬิกากับใส่เครื่องประดับ หากสามารถเผยเเพร่คำสอนและช่วยเหลือผู้คนได้ ฉันไม่คิดว่าการใส่เครื่องประดับจะมีปัญหา … ภาพลักษณ์ข้างนอก (appearances) และการแบ่งเพศชาย/หญิง ไม่ใช่เเก่นคำสอนของพุทธศาสนา” และปิดท้ายว่า “พุทธะและ Honen คงภูมิใจและมีความสุขมากที่เธอได้มาบวชเป็นพระ” (p.151)


นอกจากนั้น พุทธมหายานไม่ได้มีปัญหากับการแต่งกายหรือความสวยงาม Kodo ได้อ้างข้อความจาก Flower Garland Sutra ที่ระบุว่า พระโพธิสัตว์จำนวนมาก เช่น กวนอิม ก็เต็มไปด้วยเครื่องประดับ และนั่นไม่ได้หมายความว่าต้องมีกิเลสมาก ในทางตรงกันข้ามพวกเขากลับมีเมตตาและปัญญาอย่างมาก ซึ่งความสวยงามของหน้าตาและการแต่งกายกลับดึงดูดคนได้มากขึ้นด้วย ยิ่งกว่านั้น กวนอิมก็เป็นตัวอย่างของโพธิสัตว์ผู้มีความคลุมเครือทางเพศ คือยากที่จะระบุได้ว่าเป็นหญิงหรือชาย (pp.181-183)


Kodo ได้ยกคำสอนใน Amida Sutra ที่บรรยายถึงสระดอกบัวในสวรรค์สุขาวดี ว่าดอกบัวสีเขียวเบ่งบานด้วยสีเขียว ดอกบัวสีเหลืองก็เบ่งบานด้วยสีเหลือง ดอกบัวสีเเดง/สีขาว ก็เติบโตและสวยงามในแบบสีของตัวเอง ซึ่งหมายความว่า ดอกไม้แต่ละประเภทเบ่งบานและสวยงามในแบบของตน เธอใช้คำสอนนี้มาย้ำกับผู้คนว่าให้ภูมิใจและเติบโตในแบบของตน (p.14) ซึ่งเธอยืนยันว่า อาชีพของเธอคือช่างแต่งหน้ากับพุทธศาสนามีเป้าหมายอย่างเดียวกัน คือ ทำให้ความพิเศษของแต่ละคนปรากฎชัดขึ้นและช่วยให้เขาเปล่งประกายในแบบของตัวเอง (p.16)


ความพร้อมของครอบครัวและการศึกษาเป็นเหมือนอภิสิทธิ์ที่ Kodo มีมากกว่าเหล่าสมาชิก LGBTQ+ จำนวนมาก ซึ่งปัจจัยเหล่านั้นช่วยให้เธอประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับ คือมองได้เช่นกันว่า ปัจจัยพวกนี้ช่วยให้เธอกล้าที่จะเป็นตัวของตัวเอง ที่ยิ่งกว่านั้นคือ กล้าที่จะตีความ/เผยแพร่คำสอนทางศาสนาเพื่อความเท่าเทียมทางเพศได้ หนังสือเล่มนี้นอกจากจะให้กำลังใจ LGBTQ+ แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นความยืดหยุ่นของพุทธศาสนามหายาน และการจัดองค์กรเเบบรัฐโลกวิสัย ที่ไม่ใช้อำนาจรัฐเข้าควบคุมการตีความและอัตลักษณ์ทางศาสนา


เจษฎา บัวบาล

22 กุมภาพันธ์ 2024

Comments