การตีความคำสอนสนับสนุนสมณศักดิ์ของอดีตสังฆราช

ข้อถกเถียงว่า ยศตำเเหน่งพระสงฆ์เป็นเรื่องที่ถูกต้องตามหลักการพุทธไหม ยังคงดำเนินอยู่ เเละเเบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ 1) ฝ่ายที่เห็นว่าสมณศักดิ์เป็นสิ่งถูกต้องและควรมีอยู่ โดยเอาไปเทียบกับการตั้งเอตทัคคะ หรือความเป็นเลิศด้านต่างๆ ของพระบางรูปที่พระพุทธเจ้าเเต่งตั้ง เช่น พระอานนท์เลิศในทางทรงจำเก่ง สารีบุตรมีปัญญา โมคคัลลานะมีฤทธิ์


2) ฝ่ายที่เเย้งว่า เอตทัคคะไม่เหมือนฐานันดรศักดิ์ของพระ เพราะเอตทัคคะเป็นการตั้งกันเองในชุมชนสงฆ์เพื่อชื่นชมความสามารถ ไม่เกี่ยวกับกษัตริย์เเละอาณาจักร เเต่สมณศักดิ์ผูกโยงกับอำนาจรัฐ ตำเเหน่งนั้นมาพร้อมกับเงินเดือนจากภาษีประชาชนและมีตำเเหน่งปกครองติดมาด้วย คือใช้สถานะอันนั้นให้คุณให้โทษกับผู้ใต้ปกครองได้ด้วย สิ่งนี้ไม่มีในหลักการพุทธ/ธรรมวินัย ที่ปกครองกันแบบเอกชน



สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) อดีตพระสังฆราช ได้เอาข้อความใน "จาตุมสูตร" มาตีความเพื่อสนับสนุนมติแบบเเรก ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร เพราะในฐานะที่ท่านต้องทำหน้าที่ปกครอง ในรัฐที่สนับสนุน/ควบคุมดูเเลกิจการทางศาสนา ก็จะต้องตีความคำสอนเพื่อตอบสนองความสัมพันธ์รูปแบบนั้น ที่น่าสนใจคือ ท่านอธิบายเรื่องนี้ให้เกี่ยวโยงกับหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ซึ่งเป็นพระสายปฏิบัติ / ศิษย์หลวงปู่มั่น อีกด้วย


ในจาตุมสูตร พระพุทธเจ้าถามพระสารีบุตรว่า "เธอคิดยังไง ถ้าเราจะติเตียนพระภิกษุ 500 รูปที่พูดคุยกันเสียงดัง? สารีบุตรตอบว่า "อย่าติเตียนพวกเขาเลย อยู่ให้สบายเถอะ เเม้ฉันเองก็จะวางเฉย" .. จากนั้นก็ถามโมคคัลลานะต่อ แล้วได้คำตอบว่า "พระองค์อย่าติเตียนเลย อยู่ให้สบายเถอะ เดี่ยวผมกับสารีบุตรจะไปจัดการเอง (ใช้คำว่า บริหาร)" พระพุทธเจ้ายกย่องวิธีคิดแบบโมคคัลลานะ เเล้วพูดว่า "ทั้งเรา สารีบุตร เเละโมคคัลลานะ จะบริหารด้วยกัน" น่าจะหมายถึง พระผู้ใหญ่ควรช่วยกันดูเเล/บริหาร ไม่ใช่ปล่อยวาง


ตรรกะของสมเด็จ เจริญ ฯ ก็เป็นแบบเเรก คือไม่ได้สนใจว่าสมณศักดิ์นั้นจะเกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐในการปกครอง ท่านใช้คำว่า "บริหาร" แทน คำนี้น่าจะสื่อถึงการใช้อำนาจน้อยกว่าคำว่า "ปกครอง" ซึ่งเเน่นอนว่า การบริหารเป็นเรื่องปกติทั่วไปที่ทุกองค์กรมีได้ เช่นสำนักต่างๆ ของมหายานในไต้หวันเเละญี่ปุ่น เเต่การบริหารแบบนั้นไม่มีการใช้อำนาจและภาษีของรัฐ ซึ่งพระและชาวพุทธไทยทั่วไปมักไม่สนใจประเด็นนี้


ท่านได้ใช้ตัวอย่างของพระวัดป่า ให้ความชอบธรรมกับสมณศักดิ์ คือหลวงปู่ดูลย์แม้เน้นไปทางปฏิบัติ เเต่ก็ยังช่วยรับภาระในด้านปกครอง ไม่ปฏิเสธสมณศักดิ์ เป็นการทำตาม "พุทธปฏิปทา" คือทำตามสิ่งที่พระพุทธเจ้าปฏิบัติ .. การปกครองเเบบฐานันดรพระก็ได้รับความชอบธรรมขึ้นด้วย เพราะเเม้เเต่พระป่าที่เชื่อว่าเป็นอรหันต์ก็ยังไม่ปฏิเสธเลย


เจษฎา บัวบาล

16 มกราคม 2567

(ภาพจาก matichon.co.th)

Comments