วิจารณ์หนังสือ หลอมรวม/ล่มสลาย: ประวัติศาสตร์เชิงโบราณคดีของพระพุทธศาสนาในอินเดีย

 วิจารณ์หนังสือ หลอมรวม/ล่มสลาย: ประวัติศาสตร์เชิงโบราณคดีของพระพุทธศาสนาในอินเดีย

ลาร์ส โฟเคลิน (Lars Fogelin) เขียน – วรรณพรรธน์ เฟรนซ์ แปล


บทความนี้จะเเบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจะพูดถึงความน่าสนใจ/ข้อเสนอของหนังสือเล่มนี้ และส่วนที่สองเป็นการวิจารณ์ว่าหนังสือเล่มนี้มีปัญหาอย่างไร เชื่อว่าส่วนแรกอาจพบได้ในการรีวิวของคนอื่นอยู่แล้ว หากมีเวลาน้อย อยากเสนอให้ข้ามไปอ่านส่วนที่สองได้เลย


1. ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้

เดิมทีหนังสือมีชื่อว่า ประวัติศาสตร์เชิงโบราณคดีของพระพุทธศาสนาในอินเดีย (An Archaeological History of Indian Buddhism) และได้เพิ่มชื่อ “หลอมรวม/ล่มสลาย” ในฉบับแปลไทยนี้ คงเป็นความพยายามจะทำให้หนังสือชัดเจนขึ้น โดยเอาข้อค้นพบของหนังสือมาเปรยเพื่อดึงดูดผู้อ่าน ลาร์ส โฟเคลิน ชวนให้มองถึงการล่มสลายของพุทธศาสนาในอินเดีย ว่าเกิดจากการหลอมรวมเข้ากับศาสนาพราหมณ์ มากกว่าจะยกให้เป็นเรื่องถูกเผาทำลายโดยมุสลิม โดยอาศัยหลักฐานการตีความทางโบราณคดี


ลาร์ส โฟเคลิน มองต่างจากพุทธศาสนิกชนทั่วไป (เช่น ปยุตโต) ตรงที่การเปลี่ยน/กลืนศาสนานั้นไม่ได้เกิดจากการต่อสู้กันทางหลักการศาสนา (theology) เพราะโฟเคลินเชื่อว่า ศาสนาในทางปฏิบัติเป็นเรื่องความเชื่อและพิธีกรรมซึ่งทำได้ง่ายและอาจเเชร์กันระหว่างความเชื่อด้วย กล่าวคือ คนทั่วไปแทบไม่สนใจว่าหลักการสูงสุดของศาสนาคืออะไร พระนิพพาน/อาตมันคืออะไร ดังนั้นการเปลี่ยนศาสนาจึงเป็นเรื่องของการแสวงหาพิธีกรรมที่ตอบสนองเราได้ และเครือข่ายหรือผู้คนที่เราต้องมีปฏิสัมพันธ์ด้วย 


โฟเคลินเสนอว่า ราวคริสตศตวรรษที่ 2-6 พระภิกษุได้ปลีกตัวออกจากสังคมชาวบ้าน ส่วนหนึ่งก็เพราะมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของอินเดียเอง ที่ผู้สนับสนุนชาวพุทธจำนวนมากเป็นพวกพ่อค้าและถวายที่ดิน/เงินทอง จนวัดเหล่านั้นมีความสามารถพอที่จะเลี้ยงตัวเองได้ รวมทั้งมีโรงครัวเเทนการไปบิณฑบาต (น. 212) ความสัมพันธ์กับชาวบ้านในฐานะผู้นำพิธีกรรมหรือตัวกลางระหว่างชาวบ้านกับพุทธเจ้าก็ลดลง การขาดปฏิสัมพันธ์นี้ส่งผลให้ชาวบ้านหันไปประกอบพิธีกรรมในศาสนาอื่น


ข้อเสนอที่น่าสนใจอีกอันคือ วิถีนักพรตหรือพระป่า (asceticism) เป็นจินตนาการที่ถูกสร้างขึ้นในงานวรรณกรรมยุคหลัง เพราะหลักฐานทางโบราณคดีตั้งแต่ยุคแรกกลับพบว่า พระสงฆ์มักอยู่ในชุมชนและรวมตัวกันในวัดใหญ่ และต่อมาก็เน้นการศึกษา (Scholastic Buddhism) แน่นอนว่าแม้จะเป็นพระบ้าน แต่เพราะความรวยของวัดและการสนใจปริยัติธรรม จึงตัดขาดปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้านลง แต่เราถูกบอกให้เชื่อมาตลอดว่า พระยุคเเรกสนใจปฏิบัติกรรมฐานตามหลักการสูงสุดของศาสนาทำให้ศาสนาเจริญ ส่วนพระในปัจจุบันหันมาคลุกคลีกับทางโลกเลยทำให้ศาสนาเสื่อม ซึ่งข้อเสนอของโฟเคลินกลับตรงกันข้าม คือศาสนาพุทธเติบโตผ่านการสร้างเครือข่ายกับศาสนิกและสร้างศาสนสถานจำนวนมากผ่านการคลุกคลีกับฆราวาส แต่พุทธเริ่มหมดความนิยมลงเมื่อพระหันมาสนใจปริยัติ (การศึกษา) และ ปฏิบัติ (การทำภาวนาในที่ส่วนตัว) จนมองว่าการไปปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้านเป็นเรื่องที่เสียเวลา 


หลักฐานทางโบราณคดีไม่พบว่าพระในยุคก่อนสนใจการปลีกวิเวกอยู่ป่า (อาจมี แต่ไม่ได้เป็นที่นิยม) ซึ่งโฟเคลินสันนิษฐานว่า การแต่งเรื่องราวว่าชีวิตพระที่แท้จริงคือผู้อยู่ป่าเเสวงหาทางพ้นทุกข์ (ไม่อยู่ในวัด/เมือง) อาจเป็นจินตนาการที่โหยหาอดีต ซึ่งอาจไม่มีอยู่จริง แต่ก็จำเป็นเพื่อจะเอามาต่อต้านกับกระเเสที่พระมักเอาแต่อยู่ในเมือง/แสวงหาเงินทอง และเรื่องราวในป่าก็ตอบสนองจินตนาการ/ความปรารถนาด้านหนึ่งของมนุษย์ แบบที่เราชอบอ่านหนังสือผจญภัย ดูคลิปการเอาชีวิตรอดในป่า แต่ในความเป็นจริงเราก็เลือกนอนห้องแอร์และอยากให้หน้าบ้านมีห้างสรรพสินค้า


ที่จริงข้อเสนอนี้ก็มีปัญหา เพราะหาหลักฐานพิสูจน์ยากว่าพระป่ามีจริงไหม หรือมีจำนวนมากไหม ซึ่งยังเป็นข้อจำกัดทางโบราณคดี พระป่าไม่ได้สร้างกุฏิใหญ่โตเเข็งแรงไว้ หากแต่เป็นเเค่ที่พักเล็กๆ ใช้ในระยะสั้นๆ แล้วเดินทางจาริกไปเรื่อย หรือต่อให้พบพวกบาตร/กลด/การต้มน้ำเหล่านั้นจริง ก็ยืนยันยากอยู่ดีว่านั่นเป็นของพระในศาสนาพุทธ เพราะดังที่ทราบกันดีว่า วิธีนักพรตบำเพ็ญตน มีบาตร/จีวร/กาน้ำเป็นเครื่องยังชีพ เป็นวัตรปฏิบัติของนักบวชในอินเดียทั่วไป 


จึงไม่สามารถพูดอย่างเต็มปากว่า ไม่มีพระป่าหรือพระป่าไม่เป็นที่นิยม หากเเต่สิ่งที่หนังสือเล่มนี้ให้ภาพอย่างน่าสนใจคือ พระสงฆ์สามารถเข้ากรรมฐานได้แม้จะอยู่ในเมือง เพียงเเค่ทำกำเเพงวัดให้สูง มีกุฏิส่วนตัวที่ไม่คลุกคลีกับผู้อื่น ที่จริงเราพบสิ่งนี้ได้แม้ในกรุงเทพฯ ยุคปัจจุบัน เช่น วัดมหาธาตุฯ คณะ 5 ซึ่งแม้จะอยู่ข้างสนามหลวง/ธรรมศาสตร์ แต่ภายในเงียบมาก พูดง่ายๆ คือ การภาวนาไม่จำเป็นต้องเข้าป่า และสิ่งนี้ก็มีมาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 2 แล้ว


ความน่าสนใจเล่มนี้อีกอย่างคือ การรวบรวมทฤษฎีต่างๆ ทางสังคมวิทยา/มานุษยวิทยาสำหรับใช้ในการศึกษาศาสนาไว้ในบทที่สอง ซึ่งใช้พื้นที่ราว 50 หน้า โฟเคลินไม่ได้เอาทฤษฎีมาวางไว้เฉยๆ ในแบบที่เรามักพบเจอตามวิทยานิพนธ์และถูกวิจารณ์กันว่าตัดวางแบบเป็นขนมชั้น แต่เขาได้ร้อยเรียงให้เห็นความสำคัญของแต่ละทฤษฎี และระบุชัดว่าจะเอามาใช้อธิบายส่วนไหนของงาน เอาเข้าจริงหากเราอ่านเฉพาะบทที่สองนี้ ก็เข้าใจข้อเสนอทั้งหมดของหนังสือเล่มนี้โดยสังเขปเลย

 

2. ปัญหาของหนังสือเล่มนี้

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว อาจชวนให้เข้าใจไปว่าคนมีอัตลักษณ์หรือความเชื่อทางศาสนาที่ชัดเจน เวลาพูดว่า “ฮินดูเลียนแบบพุทธหรือโน้มน้าวชาวพุทธให้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาเขา” ทำให้เข้าใจไปว่า ศาสนาเหล่านี้แย่งชิงเเข่งขันกัน และกลุ่มสาวกก็มีอัตลักษณ์ที่ชัดเจน ซึ่งในความจริงคือพวกเขามีหลายอัตลักษณ์ได้ในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะช่วงก่อนศตวรรษที่ 19 การนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบข้ามศาสนาเป็นสิ่งที่คนไม่ได้รู้สึกผิดหรือถูกเรียกร้องให้ต้องเลือกเพียงสิ่งเดียวและทิ้งสิ่งอื่น (หลายสังคม เช่น ไทย ในปัจจุบันก็ยังพบสิ่งนี้) ในอินเดียยุคนั้นก็เช่นกัน คนบูชาพระพุทธรูปและศิวลึงค์ไปได้พร้อมกัน ดังนั้นการมองว่านั่นเป็นการต่อสู้แย่งชิงกันของศาสนาจึงเป็นการเอาวิธีคิดในปัจจุบันไปมองสังคมอดีต


ที่จริงโฟเคลินก็ตระหนักถึงประเด็นนี้ เขาให้ข้อมูลเรื่องนี้อยู่บ้างราวหนึ่งย่อหน้า (น.316) ว่าศาสนิกในยุคนั้นไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าตนเป็นฮินดู พุทธ หรือเชน ในชีวิตประจำวันพวกเขาอาจพึ่งพานักบวชผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อว่าจะตอบสนองความต้องการในเหตุการณ์ต่างๆ ความเชื่อแบบไหนที่ตอบสนองเรื่องนั้นๆ เขาก็เข้าหาและทำพิธีกรรมแบบนั้น และพวกเขาก็ประกอบพิธีกรรมที่คล้ายกัน เช่น จาริกเเสวงบุญ ณ ที่ศักดิ์สิทธิ์ / เดินประทักษิณ หากจะระบุว่าเขานับถือศาสนาอะไร (ในแบบที่คนปัจจุบันอยากระบุ) ก็ไปดูว่าเขาไหว้/เวียนรอบพุทธรูปหรือมหาวีระ ฯลฯ เเต่ประเด็นคือ เขาอาจไหว้ทั้งสองอย่างเลยก็ได้


ในปัจจุบัน วัดไทยหลายแห่งมีเจ้าแม่กวนอิมหรือพระพิฆเนศด้วย หากมองในมุมของโฟเคลิน คงต้องกล่าวว่า “เจ้าอาวาสเป็นคนฉลาด อยากดึงผู้ศรัทธาอื่นๆ ให้เข้ามาสนับสนุนวัดตน เลยใช้วิธีปรับปรุงภูมิทัศน์ ใช้ประติมากรรมของศาสนาอื่นมาแทรกเพื่อหลอมรวมเข้าสู่ศาสนาตัวเอง” แต่เรามักพบว่า ญาติโยมเองนั่นเเหละที่ไปเสนอขอสร้างเจ้าแม่กวนอิมกับพระพิฆเนศ เพื่อเขา (และคนอื่นๆ) มาวัดนั้นแล้วจะได้ไหว้เทพทุกองค์ได้เลย ตัวอย่างนี้ทำให้เห็นว่าชาวบ้านก็มี agency ไม่ได้ถูกชักจูงโดยเจ้าอาวาสให้เปลี่ยนศาสนา และนั่นไม่ใช่การต่อรอง/ต่อสู้กันระหว่างศาสนา เพราะเขาไม่มีวิธีคิดเรื่องการแบ่งเเยกศาสนา


การต่อสู้แย่งชิงกันของศาสนาอาจมีอยู่จริงโดยเฉพาะในมุมของผู้นำศาสนา แต่ศาสนิกมักมองว่าศาสนาเหล่านั้นดำรงอยู่แบบพึ่งพาอาศัยกัน ไม่มีเขตแดนทางศาสนาที่ห้ามข้าม และไม่ได้ต้องการทำลายให้อีกฝ่ายต้องหายไป ศิลปะตามถ้ำ เช่น เอลโลร่าก็มีทั้งของฮินดู เชน และพุทธ ซึ่งถ้าเขาอยากครอบงำหรือทำลายความเชื่ออื่น เขาคงทุบทิ้งแล้วสร้างเทวรูปตัวเองแทนที่แล้ว แต่เพราะศาสนิกสามารถเคารพเทวรูปได้มากกว่าหนึ่งศาสนา (อาจไม่มีวิธีคิดเรื่องแบ่งศาสนาด้วย) การนำเสนอว่านั่นเป็นการต่อรองหรือแบ่งเขตความศรัทธาของศาสนาที่เป็นคู่อริกันภายในถ้ำแบบที่หนังสือเล่มนี้กล่าวจึงมีปัญหา


เช่นเดียวกับพุทธสถานที่สังการามในรัฐอานธรประเทศมีภาพสลักพระพิฆเนศบผนังกำเเพง (น.322) ที่ถูกใช้เป็นตัวอย่างว่า ฮินดูได้ปรับเปลี่ยนศิลปะให้โน้มน้าวชาวพุทธ ซึ่งศิลปะเป็นการหยิบยืม เลียนแบบหรือเเชร์กัน เพื่อตอบสนองความหลากหลายของคนที่มาบูชา โดยไม่จำเป็นต้องมาจากอุบายที่ชักจูงให้คนรับนับถือศาสนา วิธีคิดแบบนี้ทำให้เรามองไม่เห็น agency ของศาสนิกที่เป็นชาวบ้านทั่วไป แล้วกลับยกอำนาจการตัดสินใจ/ออกแบบศาสนาว่ามาจากผู้นำหรือนักบวชเพื่อดึงดูดคนให้มาเข้าศาสนาตัวเอง ในเเง่นี้คือชาวบ้านตกเป็นเหยื่อที่ถูกชักจูงโดยผู้นำ/ผู้ออกแบบศาสนา ความจริงคือเราไม่สามารถรู้ได้ว่า การเเกะสลักพระพิฆเนศในวัดพุทธนั้นเป็นความต้องการของนักบวชฮินดูหรือผู้ศรัทธาชาวพุทธเองที่อยากให้มีศิลปะนั้น 


การอ่านหนังสือเล่มนี้เเล้วอาจช่วยให้ชาวพุทธเลิกเกลียดอิสลามได้มาก เเต่ชาวพุทธไม่ควรย้ายความเกลียดไปลงที่ฮินดูเเทน หรือไปมองว่าฮินดูฉลาดคิดกลอุบายหลอกล่อชาวพุทธ เพราะคนในสังคมร่วมกันทำสิ่งนั้นไปพร้อมๆ กัน คือศาสนาไม่ได้เกิดจากคนคนหนึ่งคิด/ออกแบบขึ้นมา หากแต่เป็นผลผลิตของสังคมที่ช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้น เเม้ผู้นำคนนั้นดูจะโดดเด่นมีบารมีมากก็ตาม แต่เขาอยู่ไม่ได้หากบริบทของสังคมในตอนนั้นไม่เอาด้วย พูดอีกแบบคือ เขาดูโดดเด่นเพราะมาตอบสนองสิ่งที่สังคม/ชุมชนนั้นปรารถนานั่นเอง 


เจษฎา บัวบาล

บรรณาธิการวารสารมานุษยวิทยาศาสนา


เผยเเพร่ครั้งเเรกวันที่ 18 ธันวาคม ในเว็บไซด์ 

https://www.illuminationseditions.com/

Comments